ระดมกึ๋นชาวไร่แก้ปัญหาอ้อย

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า วันที่ 3 มี.ค.นี้ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และในฐานะประธานบอร์ด กอน.ได้เรียกโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยไปหารือถึงภาพรวมการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ยังคงมีหลายประเด็นต้องเร่งแก้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการปิดล้อมกระทรวงจากกลุ่มผู้ชุมนุม และเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการ จึงทำให้ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการหารือประเด็นเรื่องระยะห่างของโรงงานน้ำตาลทรายที่ขณะนี้ 2 โรงงานคือ มิตรภูหลวง กลุ่มมิตรผล จ.เลย และโรงงานน้ำตาลขอนแก่น สาขาวังสะพุง จ.เลย ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ รง.4 เพราะระยะห่างกันเพียง 50 กิโลเมตร ซึ่งขัดกับมติ ครม.ที่กำหนดต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 80 กม. เพื่อป้องกันการแย่งอ้อยทำให้โรงงานดังกล่าวเมื่อเปิดหีบอ้อยต้องอาศัยระเบียบยึดเกณฑ์โรงงานแม่พิจารณาไปพลางๆ ก่อนเพื่อให้ขนย้ายน้ำตาลได้ ขณะเดียวกันที่ผ่านมากระทรวงอุตฯ พยายามแก้ระเบียบใหม่ให้ระยะห่างต่ำกว่า 80 กม.ได้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และยังเป็นการเปิดให้มีการยื่นตั้งโรงงานเป็นการทั่วไปอีกครั้ง แต่ก็ต้องชะลอออกไป เพราะ ครม.เป็นเพียงรักษาการเรื่องนี้จึงต้องกำหนดให้ชัดเจนอีกครั้ง

แหล่งข่าว กล่าวว่า คาดว่าทั้งชาวไร่และโรงงานจะเรียกร้องให้ กอน.เร่งประชุมเพื่อกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิต ปี55/56 และราคาอ้อยส่วนเพิ่มของราคาขั้นต้นฤดูการผลิตปี 56/57 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการประชุม กอน. เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะค่าอ้อยขั้นสุดท้ายปี 55/56 ที่โรงงานได้ทดลองจ่ายชาวไร่แล้ว แต่ตัวเลขที่แท้จริงยังไม่ประกาศ เพราะมีปัญหาความเห็นขัดแย้งเรื่องราคากากน้ำตาล (โมลาส) ที่นำมาคำนวณ ซึ่งโรงงานไม่เห็นด้วยที่นำภาษีมูลค่าเพิ่มมาคิดต้องหักออก ส่วนราคาอ้อยขั้นต้นปี 56/57 ที่ประกาศไว้ 900 บาทต่อตัน แต่ชาวไร่ต้องการส่วนเพิ่มให้คุ้มทุนในระดับ 1,200 บาทต่อตัน โดยการกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. เช่นที่ผ่านมา

“กรณีการเพิ่มค่าอ้อยนั้น ก่อนหน้านี้ชาวไร่อ้อยต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพื่อที่จะหาช่องให้เสนอ ครม.อนุมัติให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ แต่ในแง่กฎหมายก็ยังไม่ได้ดูรายละเอียด เรื่องนี้ต้องหารือกันใน กอน.ก่อน ซึ่งราคาอ้อยน่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ชาวไร่และโรงงานต้องการให้สรุป แต่หากมีเวลาคาดว่าจะมีการเสนอให้กระทรวงฯ พิจารณาถึงแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่ใกล้เข้ามา โดยเฉพาะโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายในประเทศที่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลง” แหล่งข่าว กล่าว

 

 

วันที่ 3/03/2557 เวลา 10:45 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

221

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน