ส่งออกข้าวไทยโคม่า

หอการค้าไทยเผยมรสุมคู่แข่งขันตลาดเพื่อนบ้าน

หอการค้าเผยส่งออกข้าวไทยอาการโคม่าในตลาดอาเซียน พร้อมเสนอไอเดียฝากรัฐบาลใหม่อุดหนุนต้นทุนร้อยละ 40 ทดแทนโครงการจำนำข้าว ขณะที่พาณิชย์เผยส่งออกเดือนมกราคมยังลดลงร้อยละ 1.98 ชี้ปัจจัยการเมืองอาจกระทบความเชื่อมั่นการสั่งซื้อสินค้าจากไทย

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สินค้าส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มเป็นธุรกิจดาวร่วงในอาเซียน พร้อมเสนอไอเดียฝากรัฐบาลใหม่อุดหนุนต้นทุนร้อยละ 40 ทดแทนโครงการจำนำข้าวที่มีปัญหารุนแรง

นายอัทธ์ กล่าวว่า วิธีการอุดหนุนด้วยต้นทุนร้อยละ 40 ควรจัดตั้งเป็นกองทุนที่มาจากรัฐบาล ซึ่งจะช่วยอุดหนุนด้านต้นทุนแก่ชาวนาโดยตรง เพราะปัจจุบันชาวนาไทยมีต้นทุนสูงสุดในอาเซียน โดยอยู่ที่ 9,763 บาทต่อตัน เงินอุดหนุน ร้อยละ 40 จะอยู่ที่ประมาณ 3,905 บาทต่อตัน คาดว่าจะอุดหนุน 2 ครั้งต่อปี เฉลี่ยรายละ 9 ตันต่อครั้ง โดยรวมแล้วคาดว่า 1 ปีจะใช้เงินทุนอุดหนุนร้อยละ 40 รัฐจะใช้เงินประมาณ 196,000 ล้านบาทต่อปี นับเป็นวงเงินที่ต่ำกว่าโครงการรับจำนำที่ใช้เงินรวมๆ 300,000 ล้านบาทต่อปี โดยเงินส่วนนี้จะถึงชาวนาโดยตรงแตกต่างกับจำนำข้าวที่มีเงินรั่วไหล และมีผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติม คือ บรรดาโรงสีต่างๆ

นายอัทธ์ กล่าวว่า แนวโน้มข้าวไทยเป็นอุตสาหกรรมร่วงในอาเซียน เนื่องจากมีผู้เล่นมากขึ้น โดยประเทศผู้หันมาส่งออก คือ เมียนมาร์ เวียดนาม ขณะที่ผู้ซื้อ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย มีนโยบายไม่นำเข้าข้าวเพิ่ม ส่งเสริมการปลูกในประเทศและส่งเสริมรับประทานอาหารประเภทอื่นทดแทนข้าว และหากเปรียบเทียบต้นทุนข้าวของไทยกับอาเซียนพบว่าไทยมีต้นทุนสูงสุด ชาวนามีรายได้เหลือต่ำที่สุด โดยต้นทุนไทย เวียดนาม เมียนมาร์ ได้แก่ 9,763.4 บาทต่อตัน, 4,070.76 บาทต่อตัน และ 7,121.76 บาทต่อตัน ผลผลิต 450 กก.ต่อไร่ 900 กก.ต่อไร่ และ 420 กก.ต่อไร่ ส่วนรายได้ 11,319 บาทต่อตัน, 7,251 บาทต่อตัน, 10,605 บาทต่อตัน ส่วนเงินเหลือ พบว่าชาวนาไทยเหลือเพียง 1,555 บาทต่อตัน เวียดนามเหลือ 3,180 บาทต่อตัน และเมียนมาร์เหลือ 3,484 บาทต่อตัน

ส่วนการส่งออกข้าวของไทยมีการคาดการณ์จาก USDA ว่าไทยจะส่งออกเป็นอันดับที่ 3 ของโลก โดยส่งออก 6.5-6.8 ล้านตัน ลดลงจากปี 2556 ประมาณ 0.2-0.5 ล้านตัน ส่วนเวียดนามเป็นอันดับที่ 2 ปริมาณ 7.80 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.4 ล้านตัน และอินเดียครองอันดับที่ 1 ที่ 9.30 ล้านตัน ลดลง 0.7 ล้านตัน

“คุณภาพข้าวของไทยที่ข่าวออกไปเป็นภาพลบ แต่คู่แข่งไม่มีข่าวลบ โดยข่าวที่มีปัญหาสร้างความกังวลทั้งตลาดในและต่างประเทศ ซึ่งเราต้องสร้างความมั่นใจแก่ลูกค้าให้ได้ โดยภาวะที่ข้าวไทยแข่งขันลำบากมาทั้งจากประสิทธิภาพ/ต้นทุนการผลิต และนโยบายแทรกแซงตลาด” นายอัทธ์ กล่าว

ด้าน นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการส่งออกเดือนมกราคม 2557 ว่า ยังคงชะลอตัว โดยมีมูลค่า 17,907 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.98 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 20,428 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ15.5 ทำให้ดุลการค้าเดือนมกราคม ไทยยังขาดดุล 2,521 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นปัจจัยตามฤดูกาลที่ช่วงเดือนมกราคมมักต่ำกว่าเดือนธันวาคม

สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกลดลงชัดเจน คือ ข้าวหอมมะลิ ลดลงในสหรัฐ สิงคโปร์ และฮ่องกง นอกจากนี้ คำสั่งซื้อข้าวนึ่งก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน ขณะที่ยางพารามีราคาต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และมีอุปทานมากเกินความต้องการ นอกจากนี้จีน รวมทั้งญี่ปุ่น ยังคงมีสต๊อกในระดับสูง

ส่วนตลาดส่งออกกลุ่มศักยภาพสูงมีการขยายตัวที่ลดลง โดยอาเซียนขยายตัวติดลบร้อยละ 5 ฮ่องกงติดลบร้อยละ 14 ส่วนอินเดียติดลบร้อยละ 11.6 อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณที่พอจะเป็นบวก คือ ตลาดหลักกลับมาขยายตัวได้ดี โดยญี่ปุ่นมีการขยายตัวร้อยละ 1.8 สหรัฐร้อยละ 0.4 และยุโรปร้อยละ 4.6

ดังนั้น จึงยังมั่นใจว่าการส่งออกปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายร้อยละ 5 ตามสมมติฐานการขยายตัวเศรษฐกิจโลกร้อยละ 3.7 ราคาวัตถุดิบอุตสาหกรรมโลก ร้อยละ 1.3 และอัตราแลกเปลี่ยน 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบ คือ ปัญหาการเมืองที่อาจกระทบความเชื่อมั่นของประเทศผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศไทยที่อาจกังวลเรื่องการส่งมอบที่ล่าช้า แต่ยังเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยระยะสั้น เพราะสินค้าไทยเป็นที่น่าเชื่อถือในตลาดโลก นอกจากนี้ ภาวะภัยแล้งอาจกระทบต่อสินค้าเกษตรได้เช่นกัน

 

 

วันที่ 26/02/2557 เวลา 7:04 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

198

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน