มะเร็งสามารถป้องกันได้

น.พ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การสหภาพต่อต้านมะเร็งระหว่างประเทศ (UICC) ร่วมกันให้ความสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ประชาชนทั่วโลก มีความรู้ มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับโรคมะเร็ง และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งได้ว่า “มะเร็งสามารถป้องกันได้” ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางถึงร้อยละ 70 ของคนทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่า ใน ปี 2573 ทั่วโลก จะมีคนตายจากโรคมะเร็ง ถึง 13 ล้านคนต่อปี หากทุกประเทศยังไม่มีมาตรการการป้องกันโรคและควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง

สำหรับในกลุ่มประเทศอาเซียนมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละประมาณ 700,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีสารก่อมะเร็งในสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา มะเร็งที่พบมากในกลุ่มประเทศอาเซียน 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งในช่องปาก ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศที่มีอุบัติการณ์โรคมะเร็งสูงสุดทั้งในเพศชายและหญิง คือประเทศสิงคโปร์ (277.3 และ 282.4ราย ต่อประชากร 100, 000 ราย ตามลำดับ) รองลงมา ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม และประเทศอินโดนีเซีย ตามลำดับ

ส่วนประเทศไทย โรคมะเร็งยังคงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 มาตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 จากจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั่วประเทศ 26,478 ราย คิดเป็นอัตราตายเท่ากับ 43.8 ต่อประชากร แสนคน และล่าสุดปี พ.ศ.2555 จำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เพิ่มเป็น 63,272 ราย คิดเป็นอัตราตายเท่ากับ 98.5 ต่อประชากรแสนคน ข้อมูลสถิติมะเร็งในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ.2547-2549 มะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย 3 อันดับแรกได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (อัตรา 38.6, 24.9 และ 11.3 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ) ในเพศหญิง 3 อันดับแรกได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งตับ (อัตรา 20.9, 18.1 และ 14.6 ต่อประชากร100,000 คน ตามลำดับ)

จากรายงานสถิติโรคมะเร็งในภาคเหนือช่วงปี พ.ศ.2546-2550 ในเพศชาย พบมะเร็งปอดมากที่สุด รองลงมาได้แก่ มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ (อัตรา 30, 24.4 และ 10.4 ต่อประชากร 100,000 คน ตามลำดับ) ในเพศหญิง พบมะเร็งเต้านมมากที่สุด รองลงมาได้แก่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งปอด (อัตรา 20.8, 19.4 และ 16.7 ต่อประชากร 100,000 คน ตามลำดับ)

องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การสหภาพต่อต้านมะเร็งระหว่างประเทศ (UICC) ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ต่อเนื่องจากปี 2556 คือการปัดเป่า ตำนาน (Debunk) ที่สร้างความเสียหายและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ได้แก่ เมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งไม่ควรเล่าให้ใครฟัง หรือเมื่อมีคนรู้จักเป็นโรคมะเร็งไม่ควรเล่าให้คนอื่นฟัง ซึ่งในความเป็นจริง การบอกความอาจทำให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียด หรือซึมเศร้าได้ แต่ก็จะช่วยให้ บุคคลในครอบครัวสามารถหาทางให้การดูแล ให้กำลังใจ ทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น โรคมะเร็งไม่มีสัญญาณเตือน ไม่มีอาการบ่งบอกว่าจะเป็นซึ่งในความเป็นจริง ถึงแม้โรคมะเร็งส่วนใหญ่ จะไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนในระยะเริ่มแรก แต่โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งผิวหนัง มะเร็งช่องปาก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงมะเร็งในเด็กบางชนิด สามารถตรวจค้นหาได้ในระยะเริ่มแรก ทำให้ผลการรักษาและการหายจากโรคมะเร็งสูงกว่าการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในระยะสุดท้าย เราไม่สามารถป้องกันหรือทำอะไรกับโรคมะเร็งได้เลยซึ่งในความเป็นจริง หนึ่งในสามของโรคมะเร็งที่พบบ่อยสามารถป้องกันได้ โดยมีวิธีการหลายอย่างที่สามารถทำได้เองในระดับบุคคล รวมถึงระดับชุมชน หรือระดับนโยบาย ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งและสามารถป้องกันได้ เราไม่มีสิทธิ ไม่มีโอกาส เข้าถึงการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งในความเป็นจริง ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะรวยหรือจน มีสิทธิและสามารถเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง กล่าวตอนท้ายว่า โรคมะเร็ง เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นการสร้างความรู้ที่ถูกต้องรวมทั้งสร้างความตระหนักในการป้องกันโรคดังกล่าวถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งซึ่งจะส่งผลถึงการลดอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งในอนาคต

พจน์-ทศพล วิจารณกรณ/ลำปาง

 

 

วันที่ 23/02/2557 เวลา 9:58 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

210

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน