สกย.ลงพื้นที่ จ.แพร่ จัดเวที ผู้ซื้อพบผู้ขาย
สกย.จ.แพร่ จัดเวทีผู้ซื้อพบผู้ขายยาง พร้อม ‘แนะ’ ความรู้ ตลาดยางอิเล็กทรอนิกส์ และประชุมเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ให้กับเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน และอุตรดิตถ์ จำนวน 300 คน ณ โรงแรมนครแพร่ทาวเวอร์ จ.แพร่
นายธรรมนูญ อุ่นธวัชนัดดา ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัด แพร่ (ผอ.สกย.จ.แพร่) กล่าวว่า สกย.ได้สนับสนุนให้ชาวสวนยางรวมตัวกันเป็นกลุ่มชาวสวนยาง และเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายชาวสวนยาง เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพการทำสวนยาง การแปรรูปการผลิต การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ และนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้พัฒนาการดำเนินกิจกรรม เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิต และที่สำคัญจัดให้ผู้นำเครือข่ายมีเวทีร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้กิจกรรมมีการพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งยั่งยืนต่อไป และสำหรับการจัดงานประชุมผู้ซื้อพบผู้ขายยาง รวมถึงการประชุมเครือข่ายชาวสวนยางระดับจังหวัดในครั้งนี้ นอกจากเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนเครือข่ายชาวสวนยางระดับจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด ภายใต้การดูแลของ สกย.จ.แพร่ ประกอบด้วย ระดับศูนย์ปฏิบัติการสงเคราะห์สวนยางจังหวัด (ศปจ.) มี จ.อุตรดิตถ์ และ จ.น่าน และระดับจังหวัด คือ สกย.จ.แพร่ จำนวนรวม 300 คน เข้าร่วมรับฟังนโยบาย แนวทางการดำเนินงานด้านเครือข่ายชาวสวนยางของ สกย.และยังมีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมของชาวสวนยางทางภาคเหนือในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะเปิดอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้
นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ประธานในพิธีเปิดการประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศอินโดนีเซีย แต่กลับมีการส่งออกผลผลิตจากยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก เนื่องจากประสิทธิภาพในการทำสวนยางของพี่น้องเกษตรกร มีผลผลิตต่อไร่ในปริมาณสูงกว่าอินโดนีเซีย โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการส่งเสริมปลูกยางพาราที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงกว่า ทำให้ชาวสวนยางของไทยในเขตพื้นที่ปลูกยางเดิม นั่นคือ ในทางภาคใต้ และภาคตะวันออก ได้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงพันธุ์ยางเป็นยางพันธุ์ดี ทำให้เกิดผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น จากนั้น ประเทศไทยก็มีนโยบายในการขยายพื้นที่ปลูกยางใหม่ในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เป็นโอกาสดีที่ สกย.ได้เข้ามาดูแลเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกยางใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกยางพารา จะเป็นเกษตรกรในยุคแรกๆ ตั้งแต่โครงการ 1 ล้านไร่ และปัจจุบันเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาด ที่ผ่านมา นอกจาก สกย.จะมีบทบาทในการให้ความรู้ส่งเสริมและช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางให้สร้างคุณภาพผลผลิตที่ดีมาอย่างต่อเนื่องแล้ว สิ่งที่ สกย.ตระหนักและให้ความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ปลูกยางใหม่มาโดยตลอด นั่นคือ ทำอย่างไรให้สวนยางที่ปลูกสร้างขึ้นมา ยางพาราซึ่งเป็นพืชที่ใช้เวลาการเจริญเติบโตไม่ต่ำกว่า 7 ปี และให้ผลผลิตนานกว่าพืชชนิดอื่น สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ได้นานที่สุด เพราะยางเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตที่คุ้มค่ากับผู้ประกอบอาชีพ รวมทั้ง เกษตรกรยังสามารถจัดการกับผลผลิตที่สามารถขายได้ตามความต้องการของตลาดได้อีกด้วย
นายประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สกย.มีนโยบายในการสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยางให้รู้จักคิดถึงแนวทางในการบริหารจัดการผลผลิตจากยาง ลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มรายได้ และการขายผลผลิตได้ราคาดี โดยการจัดตั้งกลุ่มชาวสวนยางขึ้นในพื้นที่ที่มีการปลูกยาง ตลอดจนสร้างครูยางเพื่อเป็นตัวแทนสื่อความรู้ ความเข้าใจในการปลูกสร้างสวนยางให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่โดยตรง ซึ่งทาง สกย. จะเป็นผู้ผลักดันและจัดตั้ง พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการรวมกลุ่มเป็นสถาบันเกษตรกร นอกจากนี้ สกย. ได้ดำเนินการผลักดันให้มีการจัดตั้งตลาดประมูลยางระดับท้องถิ่น ปัจจุบัน สกย.มีตลาดประมูลยางระดับท้องถิ่นทั่วประเทศรวม 108 ตลาด เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรในการบริหารจัดการการขาย และการตลาดของผลผลิต ซึ่งการดำเนินการตลาดยาง นอกจากจะเป็นจุดรวบรวมผลผลิตแล้ว ยังเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้กระบวนการพัฒนาคุณภาพยาง ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนตลาดให้ประสบความสำเร็จ มีผู้ซื้อเข้ามาซื้อ และขายได้ในราคาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปรรูปพัฒนาผลผลิตยาง จากการขายน้ำยางสดแปรรูปเป็นยางแผ่น หรือพัฒนาจากยางก้อนถ้วยเป็นยางแท่ง เป็นต้น และนอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง เช่น หมอนสุขภาพ ตุ๊กตายาง แต่ทั้งนี้ เกษตรกรจำเป็นต้องตระหนักถึงศักยภาพของตนเองด้วย
“สกย. พร้อมที่จะเป็นสื่อกลางในการให้ความรู้ และพัฒนาคุณภาพยาง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง”
สำหรับราคายาง เกษตรกรจะต้องมีความเข้าใจถึงกลไกของตลาดด้วย แต่ทั้งนี้ จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องการซื้อขายในราคาเป็นธรรม ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่สามารถยอมรับราคาซึ่งกันและกันได้ ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2558 ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้น ฐานการผลิตยางพาราของโลก จะไม่ใช่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่จะขยายฐานไปประเทศเวียดนาม จนถึงอินโดนีเซีย ภาคเกษตรกรจะอยู่รอดได้หรือไม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปุ๋ย ค่าแรงงานการเก็บเกี่ยว การดูแลสวนยางทั้งระบบ เพราะไทยมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่น ดังนั้น เราจะต้องหันมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ระหว่างภาครัฐและภาคเกษตรกร ซึ่งเวทีนี้ สกย. ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางได้แสดงความคิดเห็น หวังว่าจะให้ใช้เวทีนี้ ในการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเกษตรกร นายประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
วันที่ 20/02/2557 เวลา 7:15 น.