ประชันทักษะระบบสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทย
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พร้อมด้วย ดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ และ ผศ.บุณย์ชนะ ภู่ระหงษ์ แสดงความยินดีกับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่คว้ารางวัลแชมป์ชนะเลิศ จากการแข่งขันประชันทักษะระบบสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 8 (TESA Top Gun Rally) จัดโดยสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (Thai Embedded Systems Association) หรือ TESA ซึ่งเป็นเวทีระดับประเทศในการค้นหาสุดยอดฝีมือวิศวกรทางด้านระบบสมองกลฝังตัวของประเทศไทย โดยมี 20 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวน 24 ทีม เข้าร่วมแข่งขัน โดยวิศวลาดกระบังคว้าชัยชนะในระบบเครือข่ายควบคุม และตรวจวัดประมาณการใช้ไฟฟ้ารายอุปกรณ์ (Energy Controller and Monitoring in Home Area Network System) และยังได้รางวัลคะแนนสูงสุดอีก 3 รางวัล คือ ประเภท Sensor / Actuator Interface ประเภท RTOS และ ประเภท Systems Integration ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช
ศ.ดร.สุชัชวีร์ เปิดเผยว่า “ระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) เป็นระบบคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่พัฒนาใช้เป็นอุปกรณ์ควบคุมอัจฉริยะฝังไว้ในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องเล่นอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความฉลาดและความสามารถในการทำงานที่กำหนดไว้กับอุปกรณ์เครื่องใช้เหล่านั้นผ่านซอฟต์แวร์ ปัจจุบันมีการนำระบบสมองกลฝังตัวมาประยุกต์ใช้ทุกวงการ และมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเราอย่างกว้างขวาง เช่น ยานยนต์ สมาร์ทโฟน เครื่องมือวัดทางการแพทย์ หม้อหุงข้าว เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ เครื่องเล่นเกม ฯลฯ นับเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำมาพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้ก้าวล้ำมีคุณภาพมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะก้าวเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต่างๆ ดังเช่น ระบบสมองกลฝังตัว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมของไทย เสริมสร้างคุณภาพชีวิตประชาชน เศรษฐกิจที่ยั่งยืน และลดการนำเข้า
สำหรับการแข่งขัน ทักษะระบบสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 8 ถือเป็นเวทีระดับประเทศสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาสุดยอดฝีมือวิศวกรทางด้านระบบสมองกลฝังตัวของประเทศไทย ส่งเสริมนวัตกร และนักออกแบบรุ่นใหม่ในการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวให้สามารถสนองตอบและสนับสนุนต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เสริมสร้างความก้าวหน้าเติบโตของอุตสาหกรรมทางด้านระบบสมองกลฝังตัวในประเทศไทยโดยสอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตอบรับการก้าวสู่วิถีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 และการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่หยุดนิ่ง ผู้เข้าแข่งขันจะต้องใช้เทคโนโลยีไมโครคอนโทรลเลอร์ มิเตอร์อัจฉริยะ (Smart Meter) การสื่อสารข้อมูลแบบเครือข่ายไร้สาย Zigbee การถ่ายโอนข้อมูลแบบ NFC และการควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน ในการพัฒนาระบบ”
วันที่ 11/02/2557 เวลา 13:09 น.