สื่อนอกยก 'วิโดโด' ตัวเก็งปธน.อินโดฯ ฮีโร่กู้ปชต.เอเชีย?

Pic_402059

 

สำนักข่าวต่างประเทศเผยแพร่บทความของ 'บลูมเบิร์ก' ระบุถึงนาย วิโดโด ผู้ว่าฯ กรุงจาการ์ตา-ตัวเก็ง ปธน.อินโดฯ ว่าอาจเป็นผู้ช่วยเหลือประชาธิปไตยในเอเชีย โดยใช้นโยบายประชานิยม แต่ไม่โกงเหมือนผู้นำอื่นๆ ในเอเชีย...

บทความของ 'บลูมเบิร์ก' ระบุว่า ประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอยู่ในภาวะสิ้นหวัง เห็นได้จากเหตุการณ์หลายๆ อย่างในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น การสลายการชุมนุมในกัมพูชา, การโจมตีต่อต้านผู้นับถือศาสนาคริสต์ในมาเลเซีย, การก่อจลาจลต่อต้านชาวมุสลิมในเมียนมาร์ หรือ สงครามกลางเมืองในช่วงเลือกตั้งของไทย เรื่องเหล่านี้ทำให้ดูเหมือนว่า อนาคตทางการเมืองของนายโจโค วิโดโด มีความสำคัญเกินกว่าจะถูกจำกัดอยู่แค่การเป็นผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซียที่เขาบริหารอยู่ในขณะนี้

ผู้สำรวจความนิยมหลายชิ้นระบุว่า ชายผู้มีชื่อเล่นว่า 'โจโควี' ผู้นี้ ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งจะมีขึ้นในเดือน ก.ค.นี้ ปัจจุบัน ชาวอินโดนีเซียเริ่มเบื่อหน่ายนักการเมืองสายชาตินิยมที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่การก้าวลงจากอำนาจของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต เมื่อปี 1998 บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กระบุว่า วิโดโด มีส่วนเหมือนบารัค โอบามา เมื่อลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรก โดยวิโดโดในวัย 52 ปี ผู้เป็นแฟนเพลงวงดนตรีฮาร์ดร็อก 'ดีพ เพอร์เพิล' และอดีตผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ จุดประกายความหวังว่า คนนอกวงการเมืองจะนำพาความเปลี่ยนแปลง และแก้ไขปัญหาทุจริตและนโยบายเลื่อนลอย ที่สร้างความเสื่อมเสียแก่อินโดนีเซีย

บทความระบุอีกว่า เป็นความจริงที่คนนอกวงการเมืองคนอื่นๆ ในเอเชียสร้างชื่อเสียงที่ไม่ดีนักในช่วงที่ผ่านมา เช่น พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจใหญ่ชาวไทย ที่หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในไทยในขณะนี้ ด้วยนโยบายประชานิยมของเขา และสไตล์การเป็นผู้นำที่ทะนงตน, อิมราน ข่าน อดีตนักคริกเก็ตชาวปากีสถาน แทบไม่เสนอแนวนโยบายที่นอกเหนือไปจากการยุติการโจมตีด้วยโดรนของสหรัฐฯ หรือแม้แต่ อาร์วินด์ เคจริวัล นักรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชัน และมุขมนตรีกรุงนิวเดลี ผู้นำการเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายที่ 3 ที่ได้รับความนิยมที่สุดในหลายปีที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นว่า เขาเก่งในเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ มากกว่าการบริหาร

สิ่งที่ประเทศเหล่านี้ต้องการในขณะนี้คือการแก้ปัญหา ไม่ใช่สโลแกน ซึ่ง วิโดโด ระบุว่าเขาแตกต่างจากคนเหล่านี้ ด้วยการสร้างรูปแบบการจัดการปัญหาสำคัญ 3 ประการ ที่ใครก็ตามที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้

ประการแรก เขาจัดการปัญหาการรับสินบนและระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งเป็น 2 อุปสรรคใหญ่ในการทำธุรกิจในอินโดนีเซีย โดยระบบราชการในจาการ์ตาขณะนี้ จ้างงานด้วยคุณสมบัติ วัดจากคะแนนสอบที่ได้ ไม่ใช่เส้นสายหรือจำนวนเงินสินบน กิจกรรมหลายอย่างของรัฐบาล รวมถึงการจ่ายภาษีและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ มีความโปร่งใสมากขึ้น ลดขอบข่ายของการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Rent-Seeking) ขณะที่เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้พลเมืองมีอำนาจในการต่อสู้กับการคอร์รัปชันด้วยตัวเอง โดยพวกเขาสามารถใช้ภาพถ่ายหรือวิดีโอจากโทรศัพท์มือถือ เปิดโปงเจ้าหน้าที่ที่เรียกรับสินบน หรือละเมิดอำนาจหน้าที่ของพวกเขาได้

ประการที่ 2 ในขณะที่สภาพการจราจรในจาการ์ตายังคงเลวร้ายมาก นายวิโดโดได้เริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเมืองหลวงแห่งนี้ เขาได้รับฉายาว่า 'บลูซูคัน' หรือนักลงพื้นที่ ที่มักเดินทางไปยังพื้นที่ชุมชนโดยไม่แจ้งล่วงหน้า และสอบถามปัญหากับประชาชน และจัดการกับระเบียบราชการท้องถิ่นที่ยุ่งยากเกินไป ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ากำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ "เมื่อผมไป ปัญหา 70% จะคลี่คลาย" วิโดโดกล่าวอย่างไม่โอ้อวด การลงพื้นที่ทำให้เขาได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ซึ่งเขาเคยช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาที่ดินที่ดำเนินมายาวนาน และไกล่เกลี่ยคดีบุกรุกที่ดินด้วย ขณะที่มาตรการรับมือน้ำท่วมได้รับการพัฒนาขึ้นจากการลงพื้นที่ของเขา และขณะนี้ โครงการถนนและเส้นทางรถไฟใหม่ รวมถึงโครงการรถไฟใต้ดินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

ประการสุดท้าย นายวิโดโดเริ่มสร้างเครือข่ายสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม เขาเสนอการดูแลสุขภาพฟรีแก่พลเมืองกลุ่มที่ยากจนที่สุดในกรุงจาการ์ตา และองค์ประกอบของโครงการนี้กำลังได้รับการจับตามองว่าเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นต้นแบบในระดับชาติ จาการ์ตาได้รับประสบการณ์อันมีคุณค่า จากการบรรเทาลงของปัญหาเดิมๆ หลายอย่างที่ประเทศต้องเผชิญ เช่น การขาดแคลนโรงพยาบาล, ยา และ เจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตาม บทความระบุว่า ประสบการณ์ของเขาจะไปได้ไกลแค่ไหนยังคงเป็นคำถาม จนถึงขณะนี้ สิ่งที่ท้าทายนายวิโดโดมากที่สุดมีเพียงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และกลุ่มผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ไม่ใช่เหล่านักการเมือง, บรรดานายพล หรือนักธุรกิจใหญ่ที่เขาจะต้องต่อสู้ด้วยในฐานะประธานาธิบดี นอกจากนี้ มุมมองทางการเมืองของเขาทั้งในด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศ จะยังคงคลุมเครือเพราะไม่เคยนำเสนอมาก่อน

นอกจากนี้ ในการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี นายวิโดโด จำเป็นต้องได้รับการเสนอชื่อจากนาง เมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี หัวหน้าพรรคของเขา ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าอาจจะเสนอตัวเองเข้าชิงตำแหน่งนี้ แต่หากนายวิโดโดได้รับอนุญาตให้ลงสมัคร และหากเขาประสบความสำเร็จในระดับประเทศ ก็น่าเชื่อว่าวิโดโดจะมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อประชาธิปไตยของชาวเอเชียจำนวนมากได้.

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thairath ดูทั้งหมด

354

views
Credit : thairath


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน