นศ.มทร.ธัญบุรี รับทุนเรียนฟิลิปปินส์

นักศึกษาไทย 4 คน ประกอบด้วย “แอร์” น.ส.อทิตยา เจนจบเขต “อัสมา” น.ส.พิมพ์ชนก บินกอรี “อิ๊ง” น.ส.ชลิตา สุขประสงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล คณะศิลปศาสตร์ และ “อาร์ม” นายรัฐพล ภัยขยาด นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ คณะบริหารธุรกิจ บินไกลแลกเปลี่ยน โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทยและอาเซียน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ณ De La Salle University Das Marinas (DLSU-D) ประเทศฟิลิปปินส์

แอร์ เล่าว่า โครงการดังกล่าวน่าสนใจ สามารถนำหน่วยกิตมาเทียบโอนที่คณะได้ โดยที่ประเทศฟิลิปปินส์มีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ไม่เป็นปัญหาต่อการเรียน และยังได้พัฒนานาในเรื่องของภาษาอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ “ภาษาตากาล๊อก” เป็นภาษาถิ่นที่ใช้ในการดำเนินชีวิตในประเทศฟิลิปปินส์ ลงเรียนที่ De La Salle University Das Marinas (DLSU-D) 2 รายวิชา และมีโอกาสฝึกงานเป็นเวลา 80 ชั่วโมง ที่ Marketing office เป็นประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้การสื่อสาร ภาษาอังกฤษสำเนียงตากาล๊อก นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยฯ แห่งนี้ อายุน้อยกว่าตนเอง 2 ปี เพราะว่า Hight School มีแค่ Grade 10

อิ๊ง เล่าว่า ชอบเรียนภาษาอังกฤษและจะให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษมาก ซึ่งปี 58 ประเทศไทยจะเข้าร่วมประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะเรียนรู้วัฒนธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจและการอยู่ร่วมกัน ได้พัฒนาด้านภาษาอังกฤษ ทำกิจกรรมกับเพื่อนในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังได้นำวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ วัฒนธรรมของฟิลิปปินส์ที่ได้เรียนรู้มา คือการกินแบบ “Buddle fight” การกินแบบใช้มือกินข้าวที่วางบนใบตอง โดยเชื่อว่าเป็นการกินเพื่อให้เข้าถึงธรรมชาติ นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสไปเที่ยวภูเขาไฟ “Taal” ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่นั้น

อัสมา เล่าว่า ประทับใจเมื่อไปถึงที่มหาวิทยาลัยฯ เป็นมหาวิทยาลัยฯ ที่ร่มรื่น ได้รับการต้อนรับจากอาจารย์ โดยอาจารย์ที่ DLSU-D ได้จัดคอร์สเรียนภาษาตากาล๊อกเบื้องต้นให้ จนสามารถใช้ในการสื่อสารเบื้องต้นได้ โดยห้องเรียนของตนเองมีเพื่อนจากญี่ปุ่น เกาหลี และไนจีเรีย ร่วมชั้นเรียนด้วย ทุกวันหยุดจะมีทูตนักศึกษาจัดกิจกรรมต้อนรับนักศึกษาต่างชาติ การปรับตัวที่ประเทศฟิลิปปินส์ไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก เพราะว่าอากาศเหมือนเมืองไทย ช่วงวันหยุดชาวฟิลิปปินส์จะเที่ยว สังเกตเห็นว่าประชากรของประเทศนี้ชอบเที่ยว ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีในการปรับตัวที่ต่างประเทศครั้งแรก

อาร์ม เล่าว่า ที่ DLSU-D จะไม่อนุญาตให้นักศึกษาใช้ถุงพลาสติก ส่วนใหญ่จะใช้ถุงผ้า รวมถึงในเซเว่นฯ ยังใช้ถุงกระดาษ ที่เลือกไปประเทศฟิลิปปินส์เพราะว่าประเทศฟิลิปปินส์ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาตากาล๊อก ประชาชนส่วนใหญ่เหมือนคนไทย ทั้งหน้าตา ผิวพรรณ ส่วนสูง และการดำเนินชีวิต การใช้ชีวิตในต่างสถานที่ไม่ว่าจะในประเทศหรือนอกประเทศ ทุกอย่างล้วนเป็นประสบการณ์ให้กับชีวิต โดยเฉพาะประสบการณ์ในแง่ลบ ที่จะต้องนำมาปรับใช้และจดจำไปตลอดชีวิต และที่สำคัญประสบการณ์ที่ได้ในครั้งนี้เป็นการสร้างเครือข่ายที่ดีให้กับตนเองในอนาคต เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

“ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยฯ ที่ได้คัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว และต้องขอบคุณทุนของ สกอ. เปิดโอกาสได้เรียนรู้ชีวิตยังต่างประเทศ” ทั้ง 4 กล่าวทิ้งท้าย สำหรับโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทยและอาเซียน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาไทยให้พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในภูมิภาคอาเซียนและมีประสบการณ์ในต่างประเทศ ส่งเสริมการถ่ายโอนหน่วยกิตกลับมายังสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัด และใช้การศึกษาเป็นตัวนำไปสู่การกระชับความสัมพันธ์และการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน

 

 

วันที่ 9/02/2557 เวลา 8:26 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

228

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน