สกลนครจัดงานมหกรรมพื้นบ้าน มูนมังอีสาน

จังหวัดสกลนครเตรียมจัดงานใหญ่ มหกรรมภูมิปัญญาพื้นบ้าน มูนมังอีสาน รวบรวมศิลปวัฒนธรรมของคนอีสานมาไว้ที่นี่ อิ่มอร่อยกับงานพาแลง ชมการแสดงแสง สี เสียง อรดีมายา ตำนานปุฮาณปราสาทภูเพ็ก และวัฒนธรรมศึกษา สู่ประชาคมอาเซียน

สกลนคร/ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุม สุระอุทก อาคารสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นายไกรราศ แก้วดี รอง ผวจ.สกลนคร นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร นายโกมุท ทีฆธนานนท์ นายกเทศบาลนครสกลนคร ดร.สพสันต์ เพชรคำ สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรมฯ ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดมหกรรมภูมิปัญญาพื้นบ้าน มูนมังอีสาน ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม 2557 ฉลองการสร้างสรรค์ปัญญา นำการพัฒนาท้องถิ่น 50 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทั้งนี้ มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยในภาคอีสาน หรือรู้จักกันดีว่า มูนมังอีสาน มีความหมายว่ามรดกทางด้านศิลปวัฒนธรรม หรืออัตลักษณ์ที่โดดเด่น ซึ่งสะท้อนความแตกต่างและคุณค่าทางวัฒนธรรมอันเป็น “รากเหง้า” โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “แอ่งวัฒนธรรมสกลนคร” (อีสาน) ถือว่าเป็น “เขตสะสม” ทางวัฒนธรรมที่สืบต่อความรุ่งเรืองมานานไม่น้อยกว่า 3500 ปี

นายไกรราศ แก้วดี รอง ผวจ.สกลนคร กล่าวว่า ในอาณาบริเวณพื้นที่ของ “แอ่งสกลนคร” มีความงดงามและความหลากหลายใน “มูนมังอีสาน” หรือมรดกทางด้านศิลปวัฒนธรรม นับว่าเป็น “ทุนทางสังคม” อย่างหนึ่งที่สามารถร้อยเรียงให้ผู้คนในสังคมได้ตระหนักถึงความเป็นมาของตนเอง อันนำไปสู่ความภาคภูมิใจต่อ “มาตุภูมิ” นำไปสู่การสร้าง “สำนึกท้องถิ่น” ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและต่อยอดทาง “ภูมิปัญญา” สร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติ และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อันเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน ดังนั้นแนวทางการส่งเสริมทางด้าน “มูนมังอีสาน” หรือมรดกศิลปวัฒนธรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในมรดกศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ในฐานะที่เป็นฐานรากของ “มรดก” ทางศิลปวัฒนธรรมที่จะสร้างสัมพันธภาพและลดอคติทางชาติพันธุ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคมที่อยู่รายรอบ ดังนั้นหากเข้าใจในมรดกศิลปวัฒนธรรมย่อมส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ทางสังคมโดยรอบต่อผู้คนในภูมิภาค

ดร.สพสันต์ เพชรคำ สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการมหกรรมภูมิปัญญาพื้นบ้าน “มูนมังอีสาน” เพื่อเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูและต่อยอดสร้างสรรค์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการนำเสนอผลผลิตทางมรดกศิลปวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมทางจิตใจ (Intangible) และมรดกศิลปวัฒนธรรมทางวัตถุ (Tangible) อันประกอบด้วย การแสดงมหรสพพื้นบ้าน การแสดงหนังตะลุงอีสาน การแสดงหมอลำขอข้าว หมอลำกลอน เพลงกล่อมเด็กพื้นบ้านอีสาน การเล่านิทานก้อม การแสดงเส็งกลอง รำมวยโบราณ รำหางนกยูง นิทรรศการแสดงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ นิทรรศการและการออกร้านผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น การประกวดการประกอบอาหารพื้นบ้านและหัตถกรรมพื้นบ้าน การแข่งขันวงดนตรีพื้นเมืองระดับอุดมศึกษา และการประชุมทางวิชาการระดับชาติ ในหัวข้อ วัฒนธรรมศึกษาเพื่อการพัฒนาเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การอบรมภาษาถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ 8 ชนเผ่าของสกลนคร การแสดงผ้าฝ้ายย้อมคราม สมุนไพรพื้นบ้าน เครื่องจักสานและเครื่องปั้นดินเผา ชมการแสดงแสง สี เสียง เรื่อง อรดีมายา ตำนานปุฮาณปราสาทภูเพ็ก เป็นต้น

นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและเพิ่มมูลค่าเชิงสร้างสรรค์ทางด้านภาษา ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม หรือ “มูนมังอีสาน” ทั้งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์แก่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อันเป็นรากเหง้าของมรดกศิลปวัฒนธรรม “มูนมังอีสาน” ตามแนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรมและปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังนำเสนอผลงานทางวิชาการอันเกี่ยวเนื่องกับมรดกศิลปวัฒนธรรม “มูนมังอีสาน” เพื่อพัฒนาสู่สากลในประเด็นหัวข้อ “วัฒนธรรมศึกษาเพื่อการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน” ตลอดจนการสร้างความตระหนักและสำนึกร่วมของวัฒนธรรมท้องถิ่น อันเป็นรากเหง้าสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิตประจำวัน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ และในครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานปีแรก ซึ่งในปี 2558 อบจ.สกลนคร ขอรับเป็นเจ้าภาพ จะจัดปฏิทินการท่องเที่ยวให้ช่วงงานติดต่อกัน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว

 

 

วันที่ 31/01/2557 เวลา 11:41 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

315

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน