วิสัยทัศน์ผู้นำสำคัญกับการปฏิรูปไทย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยในงานสัมมนาการปฏิรูปเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ทิศทางการปฏิรูปเพื่อก้าวข้ามกับดักของประเทศ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ธรรมาภิบาล โดยสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ วิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจต้องศึกษาจากอดีต ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปี 2550 มีการขยายตัวจากแรงส่งเดิม แต่ในช่วงปี 2551-2557 การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะพื้นที่การขยายที่ตั้งอุตสาหกรรมจำกัด และแรงงานขาดแคลน

“เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีการแข่งขัน จะต้องใช้ข้อได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ที่ไทยเป็นศูนย์กลางในอาเซียน ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งให้ดี มีรถไฟรางคู่เชื่อมต่อกับทุกประเทศ และต้องมีระบบการเงินที่เอื้อต่อการทำธุรกิจให้ผู้ประกอบการภาคเอกชน นอกจากนี้ ต้องเลือกและวางพื้นฐานการลงทุนให้ตรงกับจุดเเข็งของประเทศ เพื่อให้เกิดความโดดเด่น ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มพื้นฐานรายได้ให้ประชาชน นอกเหนือจากรายได้ภาคการเกษตร ด้วยการพัฒนาเเหล่งท่องเที่ยวในชุมชน การพัฒนาธุรกิจเพื่อผลิตภัณฑ์สินค้าฝีมือของชุมนุม และการพัฒนาธุรกิจการบริการรองรับการขยายตัวของชุมชน ซึ่งทุกเรื่องสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องใช้วิสัยทัศน์และการวางแผนกระจายงานที่ดีของผู้บริหารประเทศ”

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า บรรยากาศการเมืองที่ดี มีความชัดเจน จะเอื้อต่อการพัฒนาและการลงทุนในประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน รวมถึงต้องทำให้เกิดการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง เพื่อหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งนี้ การจะปฏิรูปประเทศ ก่อนหรือหลังเลือกตั้งไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญมากกว่าเนื้อหา ซึ่งต้องเริ่มจากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการก่อน และการปฏิรูปฯ รัฐบาลไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องดำเนินการ ในฐานะที่เป็นคู่ขัดแย้ง หากปล่อยให้มีคนกลางที่แท้จริงมาทำหน้าที่โดยไม่มีวัตถุประสงค์แอบแฝง ก็เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการและเป็นที่ยอมรับได้ ที่สำคัญองค์กรที่จะปฏิรูปต้องมีเครื่องมือที่มีพลังในการทำงาน แต่ต้องไม่ผูกขาดอำนาจ และรัฐบาลมีหน้าที่ดำเนินการตามข้อเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม การศึกษาและการเรียนรู้

ด้านนายกนก อภิรดี อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปด้วยธรรมาภิบาลภิวัฒน์ ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน สังคมต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยไม่ปรับเปลี่ยนหรือแก้รัฐธรรมนูญบ่อย เพื่อให้มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน และทำให้การทำงานมีความโปร่งใส มีความพอเพียงควบคู่กับการแข่งขัน คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม ใช้หลักการยึดปฏิบัติมากกว่าพวกพ้อง แก้ปัญหาอย่างมีสติ และบริหารอย่างมีสมดุล หากทำได้จะทำให้ประเทศไม่เกิดปัญหา

 

 

วันที่ 31/01/2557 เวลา 7:00 น.

uasean

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ banmuang.co.th ดูทั้งหมด

229

views
Credit : banmuang.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน