มาเลเซีย (22-29 ม.ค. 57)
มาเลเซียผ่อนคลายกฎเกณฑ์การค้ารถยนต์ให้ต่างชาติ
รัฐบาลมาเลเซียประกาศผ่อนคลายกฎเกณฑ์การค้าการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ให้กับบริษัทต่างชาติที่ผลิตรถยนต์ขนาดเล็กและรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (eco-friendly) โดยตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ประหยัดพลังงานในอาเซียน แข่งขันกับไทยและอินโดนีเซีย
มาเลเซียได้แก้ไขนโยบายยานยนต์แห่งชาติ (National Automotive Policy) โดยเปิดโอกาสให้บริษัทผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก และรถยนต์ระบบไฮบริดและระบบไฟฟ้า สามารถเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศได้ โดยรัฐบาลพร้อมลดภาษีนำเข้าและเตรียมจัดหาแหล่งเงินทุนช่วยเหลือ
แผนการดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลในกลางพัฒนาประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน มาเลเซียสามารถผลิตรถยนต์ส่งออกได้ราว 60,000 คันเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับไทยและอินโดนีเซียที่สามารถส่งออกรถยนต์ได้กว่าปีละ 1.25 ล้านคัน
อนึ่ง นักวิเคราะห์มองว่า การเคลื่อนไหวของมาเลเซียสะท้อนว่า รัฐบาลเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่แท้จริงของอุตสาหกรรมรถยนต์ของมาเลเซียที่ตกต่ำมาตลอดสิบปีหลังสุด อันเนื่องมาจากนโยบายการกีดกันทางการค้า มุ่งสนับสนุนกิจการยานยนต์ภายในประเทศ จนทำให้ธุรกิจเหล่านั้นขาดการแข่งขันพัฒนาตัวเอง และไม่สามารถต่อสู้ในตลาดโลกที่มีการแข่งขันสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แหล่งที่มา: bloomberg.com และ prachachat.net
ระเบิดโบสถ์คริสต์ในมาเลเซียผลจากการใช้คำว่า “อัลเลาะห์”
ตำรวจมาเลเซียตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด หลังจากที่เกิดเหตุระเบิดที่โบสถ์แห่งหนึ่งในรัฐปีนัง ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า ความขัดแย้งเรื่องศาสนาในมาเลเซียจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โบสถ์หลายแห่ง ได้มีการนำป้ายที่เขียนว่า “Jesus is the son of Allah” หรือพระเยซูเป็นบุตรแห่งอัลเลาะห์ มาแขวนไว้ รวมถึงโบสถ์ที่เกิดเหตุระเบิดด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่อยู่ที่โบสถ์ดังกล่าวยืนยันว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ ทั้งสิ้นกับการแขวนป้ายในครั้งนี้
ทั้งนี้ การใช้คำว่าอัลเลาะห์ ที่สื่อความหมายถึงพระเจ้านั้น กลายเป็นข้อถกเถียงอย่างรุนแรงในสังคมมาเลเซีย หลังจากที่เมื่อปีที่ผ่านมา ศาลมาเลเซียได้ตัดสินให้การใช้คำว่า อัลเลาะห์ จำกัดเฉพาะกับชาวมุสลิมเท่านั้น ขณะที่ ชาวคริสต์ส่วนมากในมาเลเซีย ต่างก็ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาทางการ และการใช้คำว่าอัลเลาะห์ อันหมายถึงพระเจ้าในศาสนาคริสต์นั้น ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมานานนับร้อยปี พวกเขาจึงแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ที่มีการตัดสินคดีในลักษณะดังกล่าว
แหล่งที่มา: voicetv.co.th