“หนังสือพิมพ์รายวัน” อีกก้าวหนึ่งของเสรีภาพสื่อในพม่า

การวางแผงครั้งแรกของหนังสือพิมพ์รายวันของสำนักพิมพ์เอกชนในวันจันทร์นี้ สำหรับคนส่วนใหญ่ในพม่านับว่าเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ หลายคนเกิดไม่ทันในยุคที่นายพลเนวินอนุญาตให้เฉพาะสื่อของรัฐเท่านั้นที่สามารถเผยแพร่หนังสือพิมพ์รายวันได้ ในช่วงปี 60 ด้วยซ้ำ

 

แต่สำหรับ ขิ่นหม่องเล ผู้เฒ่าวัย 81 ปี การกลับมาอีกครั้งของหนังสือพิมพ์รายวันเหมือนความหวังได้กลับคืนมาอีกครั้ง เขาคือบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ Golden Fresh Land หนึ่งในสี่ของหนังสือพิมพ์รายวันที่ออกวางแผงครั้งแรกในวันจันทร์นี้ ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งของพม่าบนเส้นทางสู่ประชาธิปไตย

 

เขายังคงจำได้ดีในวันที่พม่าเคยมีหนังสือพิมพ์รายวันอยู่หลายฉบับ ซึ่งมีทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาพม่า อังกฤษ อินเดีย และภาษาจีน ซึ่งเป็นช่วงประชาธิปไตยหลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948

 

ในเวลานั้น ขิ่นหม่องเล ทำงานเป็นนักข่าวอาวุโสที่หนังสือพิมพ์ Mogyo หนังสือพิมพ์รายวันภาษาพม่า ก่อนที่สำนักพิมพ์จะถูกกดดันจากรัฐบาลในปี 1964 จนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้

 

ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารของ Golden Fresh Land ซึ่งมีทีมนักข่าวรุ่นใหม่ที่มาจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์หลายฉบับ ซึ่งนักข่าวน้อยคนที่เขารู้จักที่มีแนวคิดเรื่องสื่อเสรี เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นเติบโตขึ้นมาในยุคของเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศมานานกว่า 5 ทศวรรษ พวกเขาต่อต้านสื่อของรัฐและสื่อที่เข้าข้างรัฐ

 

ขิ่นหม่องเล กล่าวว่า ยังมีความท้าทายอีกนับไม่ถ้วนรออยู่ข้างหน้า แต่เขาก็พร้อมที่จะรับมือกับมัน นอกจากนี้เขายังเคยถูกจำคุกมาแล้วถึง 3 ครั้งในช่วงนายพลเนวิน และถูกกักบริเวณอีก 3 ปี ซึ่งเป็นวิธีที่เผด็จการทหารมักใช้จัดการกับผู้ที่ออกมาวิพากษณ์วิจารณ์รัฐบาล “ผมมองเห็นอุปสรรคมากมายอยู่เบื้องหน้า แต่ผมก็พร้อมที่จะผลิตหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ด้วยจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพและความเป็นมือาชีพจากเพื่อนร่วมอาชีพในวันเก่าๆ”

 

อวสานเซ็นเซอร์สื่อ

 

การฟื้นฟูหนังสือพิมพ์ในพม่าเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามปฏิรูปประเทศของประธานาธิบดีเต็งเส่ง อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยเผด็จการทหาร ที่เข้ามาทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2011 ที่ผ่านมา ซึ่งเสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญอันดับต้นในการพัฒนาประเทศ

 

ทั้งนี้ สื่อจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ซึ่งรัฐบาลได้ยกเลิกการตรวจสอบสื่อไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้นักข่าวสามารถตีพิมพ์ข่าวได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบจากรัฐก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แม้แต่จะคิดในยุครัฐบาลเผด็จการ

 

ทว่า เส้นทางก็ยังไม่ราบรื่นนักเพราะยังคงมีการใช้กฎหมายเกี่ยวกับการตีพิมพ์จากยุคเผด็จการปี 1962 อยู่จนกว่ากฎหมายสื่อฉบับใหม่จะออกมา ซึ่งกฎหมายฉบับเดิมมีบทลงโทษสูงสุดสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคือจำคุก 7 ปี นอกจากนี้ รัฐบาลยังคงมีอำนาจในการยกเลิกใบอนุญาตได้ทุกเมื่อ

 

รัฐบาลพม่าได้ประกาศเมื่อเดือนธันวาคมทีผ่านมาว่า ผู้ที่ต้องการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันสามารถร้องขอและเริ่มเผยแพร่ได้นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2013 เป็นต้นไป ทั้งนี้มีผู้ร้องขอยี่สิบกว่าราย และหนังสือพิมพ์ Golden Fresh ก็เป็นหนึ่งในบรรดาหนังสือพิมพ์จำนวน 16 ฉบับที่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีทั้งสื่อของพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซาน ซูจีและพรรค USPD ของเต็งเส่งด้วย

 

หนังสิอพิมพ์ The Voice Daily ที่ได้รับอนุญาตก็ได้ประเดิมฉบับแรกในวันจันทร์นี้ ซึ่งที่ผ่านมา สำนัหพิมพ์เดียวกันนี้ได้ผลิตหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์มาตั้งแต่ปี 2004

 

“ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ในที่สุดเราก็ได้พิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันเสียที มันเป็นฝันที่เป็นจริงเพราะเป็นเป้าหมายของเรานับตั้งแต่เราเริ่มพิมพ์ The Voice Journal รายสัปดาห์เมื่อปี 2004″ จ่อมินฉ่วย บรรณาธิการบริหาร กล่าว

 

เขากล่าวว่า หนังสือพิมพ์รายวันของรัฐบาลที่มีมาก่อนหน้านี้แล้วอาจจะได้เปรียบในเรื่องเงินทุนและการจัดจำหน่าย แต่เขาสามารถพูดได้ด้วยความมั่นใจว่าจะสามารถสู้ได้ในเรื่องของเนื้อหาและคุณภาพของข่าว

 

การแข่งขันครั้งใหญ่

 

ที่ผ่านมา ในหน้าหนังสือพิมพ์ของรัฐมักจะวนเวียนอยู่การนำเสนอแถลงการณ์ของรัฐบาลและข่าวนายพลท่านนั้นท่านนี้ไปเปิดสะพานแห่งใหม่ ส่วนบทความที่เป็นการแสดงความคิดเห็นก็มีแต่จะสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่ล้าหลัง

 

 

ซึ่ง The New light Of Myanmar หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของรัฐทราบดีถึงจุดอ่อนของตัวเองจึงต้องหาหุ้นส่วนใหม่เข้ามาช่วยปรับโฉม

 

ในส่วนพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา(the Union Solidarity and Development Party หรือ USDP) ที่มีรัฐบาลหนุนหลังนั้นได้ออกหนังสือพิมพ์รายวันในชื่อ Union Daily ซึ่งมีจุดแข็งอยู่ที่ทุนหนา เพราะพรรคที่ได้ชื่อว่าครองที่นั่งในสภามากที่สุด ได้มีบรรดาเจ้าพ่อคอยหนุนหลังอยู่ไม่น้อย นายวินติ่น บรรณาธิการบริหารของ Union Daily กล่าวว่า สิบวันแรกของการวางแผงโดยนับตั้งแต่วันจันทร์นี้จะแจกจ่ายกันไปเลยฟรีๆ

 

“เรามีกาเงินที่แข็งแรงและผู้ที่มีประสบการณ์จำนวนมาก” เขากล่าว โดยระบุว่า ทางพรรคจะมีสื่อเฉพาะสำหรับโฆษณาพรรคต่างหาก โดยจะไม่ใช้หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวในการหาเสียง

 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันจะมีมากขึ้นในอนาคตเพราะยังมีหลายสำนักพิมพ์รายใหญ่ๆ ที่ยังไม่พร้อมแต่เตรียมการไว้ว่าจะออกหนังสือพิมพ์รายวันเช่นกัน

 

“เรายังต้องการเวลาในการเตรียมการ มันเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับนักข่าวที่ต้องเปลี่ยนจากรายสัปดาห์มาเป็นรายวัน ” เญง เญง หน่าย บรรณาธิการของวารสารข่าวรายสัปดาห์ 7-Day weekly กล่าว “เราจะออกหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกในวันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเสรีภาพสื่อ ซึ่งมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์”

 

 แปลจาก Burma’s daily newspapers return to challenge state monopoly วันที่ 21 มีนาคม 2556 / The Associated Press

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ salweennews.org ดูทั้งหมด

1139

views
Credit : salweennews.org


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน