สพฉ.จับมือ JICA ถอดบทเรียนภัยพิบัติอาเซียนสร้างชุดเรียนรู้รับมือ


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สพฉ.จับมือ JICA จัดประชุมด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์ภัยพิบัติระดับภูมิภาคอาเซียน เตรียมถอดบทเรียนในหลากหลายประเทศเพื่อสร้างชุดความรู้ในการเตรียมการรับมือ พร้อมเร่งผลักดันให้เกิดความร่วมมือรับภัยพิบัติทั่วภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม มีทีมแพทย์ใน 10 ประเทศอาเซียนร่วมประชุม 23-25 เม.ย.นี้ ที่จังหวัดภูเก็ต
       
       วันนี้ (23 เม.ย.) ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ.กระทรวงสาธารณสุข และ The Japan Internation Cooperation Agency (JICA) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ที่มุ่งเน้นภารกิจในการพัฒนามนุษยชาติให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ร่วมกันจัดประชุม Asean Disaster Medicine workshop ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 23-25 เม.ย.2557 ที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายแพทย์ อนุชา เศรษฐเสถียร (Anuchar Sethasathien) เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และนางโนริโกะ ซูซุกิ (Ms.Noriko Suzuki) ตัวแทนจากไจก้า ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด
       
       นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับ และมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ทีมแพทย์ด้านการบรรเทาภัยพิบัติ และเจ้าหน้าที่จากไจก้า ทีมให้ความช่วยเหลือการแพทย์ด้านภัยพิบัติ สพฉ. ผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนายแพทย์ที่ทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินและภัยพิบัติจากทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก สหพันธ์สภากาชาด และสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และศูนย์เตรียมความพร้อมภัยพิบัติแห่งเอเชีย 
       
       นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกของภูมิภาคอาเซียนที่มีการจัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ในสถานการณ์ภัยพิบัติ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภูมิภาคอาเซียนมีภัยพิบัติเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นยักษ์สึนามิ พายุ น้ำท่วม และภัยพิบัติในรูปแบบอื่นๆ ดังนั้น การจัดประชุมในครั้งนี้จึงเป็นเวทีสำคัญสำหรับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ และผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ด้านภัยพิบัติในประเทศอาเซียน จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์ภัยพิบัติของแต่ละประเทศ เพื่อเป็นการถอดบทเรียนในการจัดการทางด้านการแพทย์ในสถานการณ์ภัยพิบัติให้แก่ประเทศอื่นๆ ได้เตรียมการรับมือ และนำกลับไปพัฒนาระบบการแพทย์ในประเทศของตนเองให้พร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ
       
       สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจในครั้งนี้ ประกอบด้วย การจัดสาธิตการแข่งขันแรลลี่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย การอภิปรายถอดบทเรียนการจัดการทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์ภัยพิบัติของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสามารถด้านการแพทย์ฉุกเฉินและการแพทย์ด้านภัยพิบัติในแต่ละประเทศอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือและการประสานงานระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ในการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยประเทศไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางเพื่อดำเนินการให้เกิดศูนย์ประสานงานอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
       
       ด้านนางโนริโกะ ซูซุกิ ตัวแทนจากไจก้า กล่าวว่า โดยความร่วมมือของ สพฉ.ไทย และ JICA และประเทศในอาเซียน ในโลกเรามีภัยพิบัติที่หนักขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากสภาวะโลกร้อน อย่างที่เคยเกิดขึ้นเป็นสึนามิเมื่อ 8 ปีก่อน เป็นเรื่องสำคัญมากที่ประเทศต่างๆ ในอาเซียนจะเพิ่มความพร้อมของตน แต่ที่สำคัญกว่าคือ การร่วมมือโดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของพรมแดน เราต้องร่วมมือกันระหว่างประเทศ โดยประเทศที่อยู่ใกล้กันจะมีภัยพิบัติที่คล้ายกัน เรียนรู้ร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เหมือนกัน ในประเทศญี่ปุ่น จะมีประสบการณ์ด้านภัยพิบัติมากมาย เช่น แผ่นดินไหวโกเบ สึนามิ ญี่ปุ่นอยากจะแชร์ประสบการณ์ให้อาเซียน และ สพฉ.
       
       โดยในการประชุมครั้งนี้จะได้เรียนรู้การรับมือภัยพิบัติต่างๆ สามารถให้ประเทศที่มาร่วมได้เร่งความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติ ในส่วน JICA จะพยายามช่วยในเรื่องของทรัพยากรของประเทศในอาเซียน อย่างไรก็ตาม ทาง JICA ต้องขอขอบคุณทางประเทศไทย และ สพฉ.ในการจัดงานให้เกิดขึ้นในครั้งนี้ 
 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด

194

views
Credit : manager.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน