เลือกตั้งเลือดบังกลาเทศ ผลจากความขัดแย้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน

Pic_394472

 

คาลิดา เซีย และ ชีค ฮาสินา

พรรครัฐบาล 'สันนิบาตอวามี' (เอแอล) แห่งบังกลาเทศ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเมื่อ 5 ม.ค. ตามความคาดหมาย ท่ามกลางการต่อสู้บนท้องถนนมีผู้เสียชีวิต 18 คน, ผู้ออกมาใช้สิทธิ์น้อยนิดเพียง 22% และการบอยคอตต์ไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งโดยพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรค 'ชาตินิยมบังกลาเทศ' (บีเอ็นพี) และพันธมิตร ซึ่งคาดว่าจะยิ่งทำให้บังกลาเทศตกลงสู่ความสับสนอลหม่าน และอาจนำไปสู่เหตุความรุนแรงครั้งใหม่

 

 

เหตุความรุนแรงล่าสุดในบังกลาเทศ เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างพรรคเอแอลของ นาง ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีและพรรคบีเอ็นพีของ นาง คาลิดา เซีย ซึ่งสลับกันเป็นรัฐบาลในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยความขัดแย้งปะทุรุนแรงเมื่อรัฐบาลนางฮาสินา ผ่านร่างกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกการตั้งรัฐบาลรักษาขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลกระบวนการและความโปร่งใสของการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเป็นประเพณีที่ใช้มาร่วม 20 ปี เมื่อ 30 มิ.ย. 2011 หลังจากเกิดกรณีรัฐบาลรักษาการซึ่งได้รับหนุนหลังจากกองทัพ ที่ก่อตั้งขึ้นท่ามกลางเหตุรุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือน ม.ค. ปี 2007 ปกครองประเทศยาวนานถึง 2 ปี จนการเลือกตั้งทั่วไปรอบใหม่สามารถจัดขึ้นได้ในเดือนธ.ค. 2008

ความเคลื่อนไหวของรัฐบาล ทำให้ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านออกมาชุมนุมประท้วงก่อนปะทะกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง และพรรคบีเอ็นพีขู่ว่าจะคว่ำบาตรการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 5 ม.ค. 2014 ด้วย

 

 

บังกลาเทศยังผ่านเหตุความรุนแรงจากหลายสาเหตุอีกหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่เดือนก.พ. จนกระทั้งในเดือนพ.ย. 2013 ซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปกำลังใกล้เข้ามาทุกที ทำให้พรรคบีเอ็นพีออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบกระบวนการเลือกตั้ง แต่ถูกปฏิเสธ ทำให้ฝ่ายค้านระดมผู้สนับสนุนออกมาชุมนุมประท้วงใหญ่ ทั้งปิดถนน, ทางรถไฟและทางน้ำ รวมถึงปิดร้านค้า, โรงเรียน และสำนักงานหลายแห่ง การประท้วงยังยืดเยื้อถึงเดือนธ.ค. มีการเผาหน่วยเลือกตั้งหลายร้อยแห่ง และผสมโรงด้วยการประท้วงขอขึ้นค่าแรงโดยกลุ่มแรงงานโรงงานเย็บผ้า ซึ่งการประท้วงตลอดหลายสัปดาห์นั้น เกิดเหตุปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจหลายครั้งจนมีผู้เสียชีวิตราว 150 ราย และมีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 รายแล้วหากนับตั้งแต่เหตุความรุนแรงในเดือนก.พ.

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงในช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อ 5 ม.ค. คือการสั่งแบนพรรคการเมืองอิสลาม พรรค 'จามัต อี อิสลามี' ซึ่งแกนนำอาวุโสของพรรคอย่างนาย อับดุล คาเดอร์ มุลเลาะห์ ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. หลังจากเขาถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม ในช่วงสงครามประกาศอิสรภาพปี 1971 ซึ่งส่งผลให้เกิดการประท้วงโดยกลุ่มชาวมุสลิมที่ไม่พอใจขึ้นทั่วประเทศ และพรรค จามัต อี อิสลามี ก็เข้าร่วมการประท้วงคว่ำบาตรการเลือกตั้งกับพรรคบีเอ็นพี

 

 

ทั้งนี้ แม้การเลือกตั้งในบังกลาเทศจบลงด้วยชัยชนะของพรรครัฐบาล โดยได้เก้าอี้ในสภา 232 ที่นั้ง จากทำให้หมด 300 ที่นั่ง โดยราว 127 ที่นั่งเป็นชนะในเขตที่ไม่มีคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ของบังกลาเทศได้รับเสียงประณามและผิดหวังจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งออกมาเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ แสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิต และชี้ว่าเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระหว่างการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน และมีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์น้อยมาก และน่าเสียดายที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่สามารถตกลงกันได้

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านจะยังไม่ยุติในเร็วๆนี้ และบังกลาเทศจะต้องเผชิญกับความวุ่นวายทางการเมืองต่อไปอีก เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านซึ่งนำโดยพรรคบีเอ็นพี น่าจะก่อการประท้วงการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประท้วงเช่นนี้มักจะนำไปสู้เหตุรุนแรงจากการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ความมั่นคง และจะทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายอีกมาก

 

 

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thairath ดูทั้งหมด

434

views
Credit : thairath


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน