เจาะสนามเลือกตั้งอินโดนีเซีย (ชมคลิป)

Pic_391835

 

การเลือกตั้งของไทยแม้จะกำหนดไว้แล้วในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่ยังต้องลุ้นว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ในปีหน้า จะมีเพื่อนบ้านสมาชิกอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ที่จะจัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่เช่นกัน ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มจับตาการเปลี่ยนผ่านการเมืองครั้งนี้อย่างมาก และเชื่อว่า "โซเชียลมีเดีย" จะเข้ามามีบทบาทชี้นำการเลือกตั้งของอินโดนีเซียครั้งนี้ไม่น้อยทีเดียว

พรรคการเมืองในอินโดนีเซียเริ่มประชุมเตรียมพร้อมการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบทางตรงกันแล้ว เนื่องจากประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นาย ซูซิโล บำบัง ยูโดโยโน่ จะหมดวาระลง เพราะเป็นประธานาธิบดีมาแล้วถึง 2 สมัย

ถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 3 ของประเทศ นับตั้งแต่ประเทศอินโดนีเซียมีการปกครองแบบประชาธิปไตย

โดยในปีหน้าอินโดนีเซียจะจัดการเลือกตั้ง ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาท้องถิ่นในเดือนเมษายน ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก จะมีขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม

ด้านนักวิเคราะห์การเมือง ระบุว่า โซเชียลมีเดีย หรือสื่อออนไลน์ จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างมาก เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมา สื่อออนไลน์มีบทบาทในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง และข้าราชการในประเทศอินโดนีเซีย เช่นล่าสุด นายอากิ ม็อคต้า ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ต้องถูกจับกุมเนื่องจากการคอร์รัปชัน และมีประชาชนจำนวนมากได้ชักชวนกันผ่านสังคมออนไลน์ และออกมาประท้วงตามท้องถนน

อีกตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจากการใช้สื่อออนไลน์ คือ นักการเมืองหัวสมัยใหม่อย่าง นายโจโก วิโดโด้ หรือ โจโกวี ที่ใช้ทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ และอินสตาแกรม ส่งข้อมูลตรงถึงประชาชน จนได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการเมืองจาการ์ตาเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากการจราจรติดขัดอย่างหนัก วิธีการหาเสียงแบบนี้จึงเข้าถึงประชาชนได้เป็นวงกว้าง และลงทุนน้อยกว่าวิธีการหาเสียงแบบเดิมๆ

นักวิเคราะห์ ยังระบุด้วยว่า โซเชียลมีเดีย กำลังคืบคลานเข้าไปปลุกกระแสการเลือกตั้งในกลุ่มวัยรุ่น ที่กำลังจะมีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรก ซึ่งเฉพาะในเมืองหลวงก็มีมากกว่า 1 ล้านคนแล้ว หากชนะใจและเข้าถึงเยาวชนกลุ่มนี้ได้ ก็จะมีโอกาสชนะมากขึ้น

แต่หากเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนกับการเลือกตั้งของมาเลเซียครั้งล่าสุด ที่กระแสโซเชียลมีเดียได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ แต่นักวิเคราะห์มองว่า กระแสในอินโดนีเซีย อาจจะไม่รุนแรงมากเท่า เพราะมาเลเซียมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึงร้อยละ 60 หรือประมาณ 17 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประเทศอินโดนีเซีย ที่มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แค่ร้อยละ 22 หรือประมาณ 55 ล้านคน

แต่สุดท้ายก็ต้องไม่มองข้ามอีกปัจจัยสำคัญ คือลักษณะของฐานเสียงของแต่ละพรรค เพราะบทบาทของโซเชียลมีเดียจะมีสูงขึ้นมาก ถ้าเป็นกลุ่มคนในเมือง แต่กลับกันในพื้นที่ชนบทก็อาจจะได้เห็นแค่การหาเสียงแบบการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือ ซึ่งน่าจะเข้าถึงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้มากกว่าโซเชียลมีเดียประเภทอื่น อย่างเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม

ขณะเดียวกันก็มีหนึ่งแนวโน้มที่ชัดเจน คือจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอินโดนีเซีย ที่เริ่มมีมากขึ้นทุกปี และอยู่ในช่วงอายุประมาณ 18 ถึง 35 ปี ทำให้ทุกพรรคการเมือง ต้องให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ปัจจุบันนักวิชาการทั่วโลก ต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับขอบเขต ที่โซเชียลมีเดียควรมีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งก็ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ บ้างก็ห้ามใช้เลย อย่างในเกาหลีเหนือ บ้างก็จับตาดูอย่างใกล้ชิด เช่น จีน อิหร่าน และไทย แต่อีกไม่น้อยที่เปิดเสรีอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา

แต่ไม่ว่าขอบเขตจะอยู่จุดไหน การสื่อสารและการมีส่วนร่วมของสาธารณชนต่อการเมือง ถือว่าโซเชียลมีเดียได้เข้าไปกระตุ้น จนเปลี่ยนยุคสมัยไปแล้วอย่างเห็นได้ชัดเจน
 

 

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thairath ดูทั้งหมด

318

views
Credit : thairath


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน