"ความจริง" รถไฟเร็วสูงจีน "ความฝัน" พัฒนาของไทย

Pic_392098

 

เพิ่งกลับจากจีนพร้อมคณะสื่อมวลชนไทย ที่ทางสถานทูตจีนเชิญให้ไปนั่งรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือภาษาจีนพูดว่า “เกาซู่ เถียลู่” พูดให้สั้นลงว่า “เกาเถีย” เพราะ องค์การรถไฟแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (รฟจ.) พยายามตอกย้ำความมั่นใจศักยภาพของตนเอง ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการยื่นซองประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงในไทยว่า นวัตกรรม Made in China ...สุดยอดในยุทธภพ ม้าเหล็กเร็วสูงของโลก!!

แต่ก่อนที่จะได้สัมผัสของจริง มร.เหอ ฮวาหวู วิศวกรใหญ่ของ รฟจ. เผยว่า จีนมีความมุ่งมั่นมาก เพราะเราโดดเด่นเรื่องต้นทุนต่ำแต่ประสิทธิภาพสูงไม่แพ้ชาติไหน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลังศึกษาละเอียดยิบกับบริษัท ซิเมนต์ ของเยอรมนี แล้วนำมาปรับให้เป็นของตัวเอง พร้อมจดลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อย จนเกิด เส้นทางสายแรกกรุงปักกิ่ง–เทียนจินเมื่อ พ.ศ.2541 ปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เปิดใช้บริการแล้วเกิน 10,000 กม. ทั้งเส้นทางรถไฟสายเจิ้นโจว–ซีอัน, เส้นทางสายวงแหวนตะวันออกไห่หนาน, เส้นทางกรุงปักกิ่ง– เซี่ยงไฮ้, เส้นทางฮาร์บิน–ต้าเหลียน และเส้นทางกรุงปักกิ่ง–กวางโจว และอีกหลายๆ เส้นทางต่อไปที่จีนไม่ยอมหยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นรางชนิดไม่ใช้หินโรยทาง และรางชนิดใช้หินโรยทาง

ทำให้มั่นใจถึงประสบการณ์การสร้างทางรถไฟทุกสภาพภูมิประเทศ-สภาพอากาศ-สภาพสิ่งแวดล้อม-สภาพธรณีวิทยาที่ซับซ้อน พื้นที่ภูเขาที่อันตราย เขตที่เหนือจากละติจูด 42 องศาขึ้นไป แถบโซนร้อนและความชื้นสูง นอกจากผลิตภายในประเทศแล้ว จีนยังส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่นตุรกี ซาอุดีอาระเบีย และอนาคตที่กำลังเจรจา ก็ที่เอธิโอเปียกับโรมาเนีย ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกอุปกรณ์ชิ้นส่วน, การก่อสร้างรวมถึงการส่งออกอุปกรณ์, การปฏิบัติการจ่ายกระแสไฟฟ้าและขับเคลื่อนควบคุมระบบเส้นทางการเดินของรถไฟอย่างปลอดภัย และการซ่อมแซมบำรุงรักษา

สื่อไทยเริ่มต้นจากกรุงปักกิ่งไปยังโรงงาน Tangshan Locomotive and Rolling Stock Works of CNR ที่เมืองถางชัน มณฑลเหอเป่ย์ ตอนเหนือขึ้นไปหน่อย เพื่อดูทุกขั้นตอนของการผลิต ท่ามกลางหิมะที่โปรยปรายลงมาวันแรกของฤดูหนาวปีนี้ ซึ่งคนจีนเชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี!!! แล้วขากลับพวกเราก็ได้นั่งรถไฟความเร็วสูงถางชัน-ปักกิ่งของจริง ซิ่งฉิวความเร็ว 250 กม./ชม. ระยะทาง 179 กม. ใช้เวลา 1 ชม. ด้วยเหตุบังเอิญแทนรถตู้เหมือนขามา เพราะหิมะตกจนกีดขวางทางหลวง

วันถัดมา นั่งสายกรุงปักกิ่ง–เซี่ยงไฮ้ ชั้นเฟิร์สคลาส ตั๋วราคา 750 หยวน หรือราวๆ 3,750 บาท ชั้นสอง ราคา 550 หยวน และชั้นบิสสิเนส 1,750 หยวน (ทุกชั้นจะมีอาหาร & เครื่องดื่มไว้คอยบริการจากพนักงานสาวหน้าตาจิ้มลิ้ม) ระยะทาง 1,318 กม. ด้วยความเร็วที่จับได้ 304 กม./ชม. ใช้เวลา 4.40 ชม.!! (ความจริงสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 380 กม./ชม. แต่กฎหมายจีนคุมให้วิ่งไม่เกิน 310 กม.) ระหว่างนั้นก็ลองวางแก้วน้ำบนโต๊ะพับเก็บได้ของเก้าอี้เห็นเลยว่า น้ำกระเพื่อมเล็กน้อย ถ่ายกล้องวีดิโอก็ไม่สั่นไหวให้เสียอารมณ์เหมือนรถไฟฉึกฉักไทยรุ่นแอนทีคร้อยกว่าปี!!

นอกจากนี้ ภายในสถานีรถไฟที่กว้างขวางโอ่อ่าราวกับสนามบินสากล แม้แต่การจัดระบบการซื้อขายตั๋วทั้งในสถานี ตู้ขายอัตโนมัติ และซื้อผ่านออนไลน์ แล้วรับตั๋วได้ที่สถานีเพียงแค่เสียบบัตรประชาชนเข้าในเครื่อง ตารางการเดินรถไฟที่เห็นก็เด่น-ใหญ่-ชัด แต่น่าเสียดายที่เป็นภาษาจีนล้วน!!!

มร.หยาง ฉี่ปิน วิศวกรใหญ่ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายกรุงปักกิ่ง–เซี่ยงไฮ้ เผยว่า ตั้งแต่เปิดให้บริการ 30 มิ.ย. ปี 2554 ผู้คนทยอยใช้มากขึ้น 10% ทุกปี คาดว่าปีหน้าถึง 100 ล้านคน  แล้วจากที่ประชาชนเคยคัดค้านหนัก กลับกลายเป็นช่วยเรื่องการท่องเที่ยว ช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางเมื่อเทียบกับรถยนต์ แต่มีเวลาติดต่อสื่อสารมากกว่าทางเครื่องบิน เพราะภายในโบกี้จะมีสายปลั๊กให้เสียบใช้สำหรับทำงานออนไลน์เจรจาธุรกิจการงาน ซึ่งจีนเห็นว่าเวลาเป็นสิ่งมีค่ามาก ส่งเสริมให้เมืองเจริญก้าวหน้า สร้างโอกาสการจ้างงาน ขนส่งคมนาคมแบบประหยัดพลังงานไม่เปลืองทรัพยากรโลก

สุดท้าย...แม้รัฐบาลจีนพร้อมลุยเพาะปลูกให้ไทยกลายเป็น “ฮับแห่งอินโดจีน” เพราะแว่วว่าไปสำรวจด่านปาดังเบซาร์ ของ อ.สะเดา จ.สงขลา เพื่อเชื่อมเศรษฐกิจการค้ามาเลเซียและสิงคโปร์แค่ไหน ก็ต้อง “รอ” & “หวัง” ให้สถานการณ์ไทยกลับสู่โหมดสันติโดยเร็ว!!!

 

 

กิรณา อินทร์ชญาณ์

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thairath ดูทั้งหมด

522

views
Credit : thairath


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน