เผยราคาน้ำตาลไทยต่ำสุดในอาเซียน

กรุงเทพฯ 24 ต.ค. - ไทยชูการ์ มิลเลอร์ ระบุราคาขายปลีกน้ำตาลทรายไทยต่ำสุดในอาเซียน แนะรัฐเตรียมรับมือก่อนก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หวั่นเกิดปัญหาลักลอบขายต่างประเทศ ทำให้น้ำตาลบริโภคในประเทศไม่เพียงพอ

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ทีมงานของไทยชูการ์ มิลเลอร์ ได้สำรวจข้อมูลราคาน้ำตาลทรายประเทศต่างๆ ทั่วโลก เน้นกลุ่มประเทศอาเซียน โดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานการค้าในประเทศต่างๆ ประกอบกับข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และเทรดเดอร์น้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก โดยเทียบเป็นสกุลเงินบาท พบว่าน้ำตาลทรายของไทยมีราคาขายปลีกต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

ทั้งนี้ น้ำตาลทรายขาวไทย ขายปลีกกิโลกรัมละ 22.60 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กิโลกรัมละ 23.60 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ลาวและกัมพูชา ขายปลีกน้ำตาลทรายขาว กิโลกรัมละ 30-33 บาท พม่าขายปลีก 30.01 บาท เวียดนาม 25.50-28.50 บาท มาเลเซีย 25.87 บาท อินโดนีเซียขายปลีกน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กิโลกรัมละ 33.95 บาท สิงคโปร์ 40.35 บาท ฟิลิปปินส์ 41.20 บาท นอกจากนี้ ประเทศที่ต้องบริโภคน้ำตาลทรายราคาสูงกว่าไทย ได้แก่ จีน ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายเกรดต่างๆ มีตั้งแต่กิโลกรัมละ 57.09 บาท จนถึง 77.85 บาท ญี่ปุ่นขายปลีกกิโลกรัมละ 66.90 บาท เกาหลีใต้ 49.50 บาท ออสเตรเลีย 59.75 บาท
 
นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า จากราคาขายปลีกน้ำตาลทรายของไทยที่ต่ำที่สุด ทำให้มีความกังวลว่า เมื่อเข้าสู่เออีซี มีความเสรีในการติดต่อค้าขายกันมากขึ้น หากไทยยังไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องปัญหาการลักลอบนำน้ำตาลทรายในประเทศไปขายต่างประเทศจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น และส่งผลต่อปริมาณน้ำตาลทรายที่กันโควตา ก.ไว้สำหรับบริโภคภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ
 
“แม้น้ำตาลทรายที่ผลิตได้จริงจะมีมากเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก แต่แบ่งโควตาไว้ชัดเจนระหว่างการบริโภคในประเทศกับส่งออกไปขายต่างประเทศ ซึ่งโควตาส่งออกเกือบทั้งหมดเป็นการขายล่วงหน้า ดังนั้น หากยังคงกำหนดโควตา ก. เพื่อกันไว้สำหรับบริโภคในประเทศ แต่กลับถูกนำส่วนนี้ออกไปขายต่างประเทศ ก็จะส่งผลต่อผู้บริโภคในประเทศ” นายสิริวุทธิ์ กล่าว
 
นายสิริวุทธิ์ กล่าวอีกว่า การนำเสนอข้อมูลเรื่องนี้ให้สังคมได้รับรู้ เพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ เร่งหาทางป้องกันปัญหา โดยมีหลักคิดอยู่ว่า ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดการขาดแคลนน้ำตาลทรายที่ใช้บริโภคภายในประเทศ และผลตอบแทนที่ชาวไร่อ้อยจะได้รับในสัดส่วนร้อยละ 70 ของรายได้จากการขายน้ำตาลทราย จะต้องคุ้มค่ากับต้นทุนด้านการเพาะปลูก และมีกำไรส่วนต่างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้อาชีพชาวไร่อ้อยเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง. - สำนักข่าวไทย

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ mcot.net ดูทั้งหมด

186

views
Credit : mcot.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน