สปส.ชวนร่วมกิจกรรมวันแรงงานประจำปี 57 ณ ท้องสนามหลวง

กทม. 30 เม.ย.-กระทรวงแรงงานและคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ร่วมจัดกิจกรรมยิ่งใหญ่ ในวันที่ 1 พ.ค. 57 ณ บริเวณท้องสนามหลวง โพลชี้แรงงานมั่นใจแข่งประเทศในอาเซียนได้

นายอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ถือว่าเป็นวันแรงงานแห่งชาติ โดยคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้แทนจากสภาองค์การลูกจ้าง 12 สภา และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ แห่งประเทศไทยได้จัดงานเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปี สำหรับในปีนี้ คณะกรรมการจัดงานได้กำหนดจัดงานที่บริเวณท้องสนามหลวง โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ยังคงจัดให้มีกิจกรรมเหมือนเช่นทุกปี

สำหรับกิจกรรมของสำนักงานประกันสังคมได้มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้  เรื่องสิทธิประโยชน์ จากกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม ภารกิจ และกิจกรรม  ความเคลื่อนไหวของ สปส. ภาพและนิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึง สปส.ได้ให้บริการเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพฟรี โดยโรงพยาบาล ในโครงการประกันสังคม และให้มีบริการงานประกันสังคมในรูปแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตน สามารถตรวจสอบการขึ้นทะเบียนประกันสังคม การส่งเงินสมทบ การตรวจสอบเงินออมกรณีชราภาพ การตรวจสอบ การเลือกสถานพยาบาล ติดตามเรื่องการรับประโยชน์ทดแทนและรับเรื่องร้องเรียน พร้อมกันนี้ยังมี การรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 ด้วย อีกทั้งบนเวทียังจัดให้มีการตอบปัญหาชิงรางวัลอีกมากมาย
    
เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.57 นี้ สปส.ขอเชิญชวน ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนประชาชนทุกคน เข้าร่วมกิจกรรม วันแรงงานแห่งชาติ โดยพร้อมเพรียงกัน ณ บริเวณท้องสนามหลวง ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป

ด้านสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ทำการสำรวจความรับรู้ของชาวไทยในเขตกรุงเทพฯ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 24-29 เมษายน 2557 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,069 คน พบว่าในด้านความรับรู้ต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.74 ทราบว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558  แหล่งข้อมูลที่กลุ่มตัวอย่างได้รับรู้/รับทราบ/เคยได้ยินเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสูงสุด 5 แหล่งคือ สื่อโทรทัศน์ คิดเป็นร้อยละ 83.82 สื่อวิทยุ คิดเป็นร้อยละ 80.73 ฟังผู้อื่นเล่า คิดเป็นร้อยละ 78.67 สื่อหนังสือพิมพ์ คิดเป็นร้อยละ 72.5 และสื่ออินเทอร์เน็ต คิดเป็นร้อยละ 69.41

ด้านความสนใจต่อการเดินทางไปทำงานยังประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.39 ระบุว่าตนเองไม่ให้ความสนใจที่จะเดินทางไปทำงานในประเทศอื่น ๆ ของเออีซี ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 31.43 ให้ความสนใจ

ส่วนในด้านศักยภาพทางด้านฝีมือแรงงาน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.28 มั่นใจว่าตนเองมีศักยภาพด้านฝีมือแรงงานที่สามารถแข่งขันกับแรงงานจากประเทศอื่นๆ ในเออีซี ขณะที่ร้อยละ 18.15 ไม่มั่นใจว่าจะแข่งขันได้ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึงเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.12 ระบุว่าสิ่งที่ตนเองต้องพัฒนามากที่สุดเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่เออีซีคือทักษะทางด้านภาษา รองลงมาร้อยละ 19.27 ระบุว่าตนเองต้องพัฒนาคุณวุฒิทางการศึกษามากที่สุด     
    
สำหรับปัญหา/อุปสรรคที่กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่าต้องพบเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสูงสุด 5 อันดับได้แก่ ถูกชาวต่างชาติจากประเทศอื่นในกลุ่มเออีซีแย่งงานทำ คิดเป็นร้อยละ 81.85 มีโอกาสถูกกดค่าจ้างมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 79.23 มีโอกาสถูกเลิกจ้างงานสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 76.33 มีโอกาสเลือกงานทำได้น้อยลง คิดเป็นร้อยละ 74.28 และคุณสมบัติในการสมัครงานมีมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 71.28 แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปัญหาด้านปากท้อง/ค่าครองชีพประจำวัน เช่น ราคาสินค้าอุปโภค/บริโภค ราคาค่าบริการต่าง ๆ กับปัญหาที่เกิดจากการเข้าสู่เออีซี กลุ่มตัวอย่างถึงเกือบสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 79.51 ยอมรับว่ากังวลปัญหาปากท้อง/ค่าครองชีพมากกว่า.-สำนักข่าวไทย

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ mcot.net ดูทั้งหมด

514

views
Credit : mcot.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน