ผลวิจัยชี้ หมูในจีนติดไข้หวัดใหญ่มากขึ้น เสี่ยงเชื้อกลายพันธ์ุ

Pic_343568

ผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญนานาชาติระบุว่า สุกรในฟาร์มเลี้ยงทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน มีอัตราการติดโรคไข้หวัดใหญ่มากขึ้น...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 8 พ.ค. อ้างผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ 'Proceedings of the Royal Society B' ของอังกฤษ ว่า สุกรในฟาร์มเลี้ยงในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน มีอัตราการติดโรคไข้หวัดใหญ่มากขึ้น ส่งผลให้ความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อสู่มนุษย์เพิ่มขึ้น

ผลการศึกษานี้ เกิดจากความร่วมมือของทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อโรคจากนานาประเทศ ทำการศึกษาและเก็บตัวอย่างจากโรงฆ่าสัตว์ในฮ่องกง เป็นเวลาถึง 12 ปี ตั้งแต่ปี 1998-2010 เพื่อศึกษาเรื่องการแพร่กระจายของเชื้อไข้หวัดใหญ่ในหมู

นายเจมส์ ลอยด์-สมิธ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย หนึ่งในผู้ร่วมวิจัย เผยว่า ผลการตรวจสอบเพื่อหาการติดเชื้อในสุกรระหว่างถูกส่งเข้าโรงเชือด รวมถึงการทดลองให้ยาสร้างภูมิคุ้มกัน พบว่าสุกรตัวอย่างติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ก่อนแล้ว เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า อัตรการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในฟาร์มเลี้ยงของจีนยังคงสูงอยู่มาก ทำให้ความเสี่ยงของการแพร่กระจายไปยังมนุษย์ หรือนกเพิ่มมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ สุกรเป็นแหล่งกำเนิดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ ในมนุษย์ เช่น ไวรัส H1N1 หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่แพร่ระบาดในประเทศเม็กซิโก ในปี 2009-10 สุกรยังทำหน้าที่เป็นเครื่องผสม ในกระบวนการรวมตัวกันของยีน (gengetic reassortment) ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุใหม่ จากเชื้อดั้งเดิมในหมู, สัตว์ปีก และมนุษย์ ที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดพวกมัน

เชื้อกลายพันธ์ุดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายร้ายแรง โดยในปี 1918, 1957 และ 1968 เคยเกิดการแพร่ระบาดจนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมหลายสิบล้านคน แต่โชคดีที่เชื้อ H1N1 มีอัตราทำให้เสียชีวิตเท่าๆ กับไข้หวัดใหญ่ธรรมดา

อย่างไรก็ดี ผลวิจัยระบุด้วยว่า ไม่พบร่องรอยของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธ์ุใหม่ H7N9 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในภาคตะวันออกของจีนและทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 27 ราย ในสุกร และระบุว่า H7N9 สามารถพัฒนาจนสามารถแพร่สู่หมูหรือมนุษย์ได้.

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ thairath ดูทั้งหมด

1107

views
Credit : thairath


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน