บีโอไอหนุนเอกชนไทยออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อช่วยพัฒนาประเทศ

กรุงเทพฯ17 ก.ค.-นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอ เดินหน้าส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อช่วยพัฒนาประเทศเหล่านั้น โดยบีโอไอ ประสานงานกับหน่่วยงานส่งเสริมการลงทุนของทั้ง 6 ประเทศสมาชิกอาเซียน  ได้แก่ เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา  อินโดนีเซียและสิงคโปร์ ซึ่งบีโอไอจะจัดให้มีหน่วยส่งเสริมการลงทุนเคลื่อนที่  โดยจัดหาบริษัทที่ปรึกษามาร่วมกันทำงานกับเจ้าหน้าที่บีโอไอ เพื่อให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและข้อมูลที่เกี่ยวข้องแก่นักธุรกิจไทยที่จะออกไปลงทุน


ล่าสุดมีเอกชนไทยจำนวน 86 ราย ที่จะออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต เกษตร เกษตรแปรรูป การผลิตชิ้นส่วนขั้นพื้นฐานอย่างง่าย โรงงานเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงออกไปลงทุนในธุรกิจบริการเช่น โรงแรม อพาร์ตเมนต์ เป็นต้น โดย 41 บริษัท เข้าไปลงทุนแล้ว และคาดว่าจะไปลงทุนภายใน 1 ปีนับจากนี้ไปจำนวน 11 บริษัท และที่คาดว่าจะออกไปลงทุนในอีก 2 ปีข้างหน้าจำนวน 20 บริษัท และคาดว่า จะออกไปลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้าจำนวน 9 บริษัท

นางศิริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ บีโอไอ  กล่าวว่า เอกชนไทยที่ออกไปลงทุนส่วนใหญ่ขยายฐานการผลิตออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยประเทศเพื่อนบ้านที่บีโอไอ ส่งเสริมให้ออกไปลงทุนได้แก่ เมียนมาร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ถัดออกไปได้แก่ จีน อินเดีย ประเทศอื่น ๆ  ในอาเซียน และจะพิจารณาส่งเสริมให้ออกไปลงทุนในประเทศในแถบเอเชียใต้  แอฟริกาและตะวันออกกลาง
สำหรับการลงทุนของนักธุรกิจไทยในประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย การลงทุนในเมียนมาร์ ปี 2531-2556 มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 9,979.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน เกษตรแปรรูป การลงทุนในกัมพูชา ปี 2537-2556 มูลค่าประมาณ 867 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น  ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า โรงสีข้าว ส่วนการลงทุนในลาว ปี 2543-2554 มูลค่าประมาณ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มีการลงทุนในเวียดนาม ระหว่างปี 2531-2555 มูลค่าประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป

อุตสาหกรรมที่เอกชนไทยออกไปลงทุนได้แก่ ภาคการผลิต เกษตร เกษตรแปรรูป ผลิตชิ้นส่วนพื้นฐาน โรงงานเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก  เฟอร์นิเจอร์ โรงแรม อพาร์ต์เมนต์ เป็นต้น  ส่วนที่คาดว่าจะออกไปลงทุนในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าก็ยังคงเป็นภาคการผลิต

นายชาติ สิงหเดช ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและการลงทุนระหว่างประเทศ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยตัดสินใจออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน และเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรหรือ GSP ที่ประเทศเพื่อนบ้านได้รับจากประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น สหภาพยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งคาดว่า ประเทศเพื่อนบ้านจะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรนี้ต่อไปอีกประมาณ 5-7 ปี และยังมีปัจจัยจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในไทย รวมถึงผลกระทบจากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เพราะอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มใช้แรงงานเข้มข้น อีกทั้งระดับกำไรลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง และมักถูกถามจากผู้สั่งซื้อสินค้าว่าจะดูแลได้เต็มที่่อีกต่อไปอีกหรือไม่ จึงเป็นนำมาสู่การย้ายฐานการผลิตออกไปในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนงานด้านการวิจัยและพัฒนาจะคงไว้ในประเทศไทย และในอนาคตข้างหน้าจะพยายามใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยอยู่ในข้อตกลงอาเซียนบวก 3 บวก 6

สำหรับสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนคือ การเจรจาในบางเรื่องที่เอกชนไม่สามารถเข้าไปเจรจาได้ในฐานะภาคเอกชน เช่น การเจรจากับภาครัฐ ตลอดจนจะขอรับการช่วยเหลือในรูปงบประมาณบางเรื่องที่มีความจำเป็น

นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิต กล่าวว่า การออกไปลงทุนในต่างประเทศ ลำพังภาคเอกชนยังคงรีรอที่จะออกไปลงทุน และการออกไปลงทุนจะไปพร้อมกับหน่วยงานรัฐอย่างบีโอไอ  สำหรับปัจจัยที่ทำให้ภาคเอกชนไทย ออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ผลกระทบจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นและปัญหาขาดแคลนแรงงาน  เพราะค่าแรงในเมียนมาร์อยู่ที่วันละ 100-150 บาทต่ำกว่าไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่จะออกไปลงทุนจะต้องระมัดระวังต้นทุนในการบริหารจัดการ เพราะระดับค่าครองชีพที่เมียนมาร์ในแหล่งลงทุนสูงมาก โดยบางอย่างมีต้นทุนในส่วนนี้สูงกว่ากรุงเทพ จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยที่จะออกไปลงทุนในเมียนมาร์จะต้องระมัดระวัง.-สำนักข่าวไทย

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ mcot.net ดูทั้งหมด

267

views
Credit : mcot.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน