ประเด็นภาพรวมการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ประเด็นภาพรวมการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวในระหว่างการบรรยายพิเศษหัวข้อ “จริยธรรมสื่ออาเซียน” ส่วนหนึ่งเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาคนเข้ามาทำงานทั้งในระบบการเมือง และระบบราชการที่ไม่ได้ผลิตคนที่มีศักยภาพในการออกไปทำงานเพื่อผลประโยชน์ของชาติท่ามกลางสังคมโลกที่มีการแข่งขันด้วยการเจรจาระหว่างประเทศ ด้วยการใช้หลักที่ว่าเป็นคนของใคร จึงไม่ได้คนที่ดีที่สุดออกไปทำงานที่เหมาะสม
“ช่วงที่ผมทำงานในฐานะเลขาธิการอาเซียน มีคนเข้ามาตบไหล่แล้วถามผมว่า นี่คือที่ดีที่สุดของคุณที่หาได้แล้วหรอ สิ่งเหล่านี้ต้องมีการปฏิรูป ผมหวังว่าอีก 45 ปีข้างหน้า ที่เราจะมีเลขาธิการอาเซียนเป็นคนไทยอีกครั้ง เขาคนนั้นคงไม่ต้องตอบคำถามเดียวกันนี้แบบผมอีกแล้ว” อดีตเลขาธิการอาเซียนกล่าว
นอกจากนี้ ดร.สุรินทร์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ และการศึกษาของประเทศไทยกลับยิ่งทำให้ช่องว่างทางสังคมมากขึ้น ทั้งๆ ที่ตามสถิติของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ระบุว่า ประเทศไทยทุ่มงบประมาณด้านการศึกษาสูงถึง ร้อยละ 28.3 ของงบประมาณประเทศ เป็นรองแค่เยเมนที่ร้อยละ 28.5 แต่ผลิตผลทางการศึกษาของเรากลับล้มเหลว เปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ ศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ของเรากับเขาอยู่ในอัตราส่วน 1 ต่อ 4 ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
อีกประเด็นหนึ่งที่อดีตเลขาธิการอาเซียนแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยก็คือเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งมีต้นทุนถึงร้อยละ 30 เป็นอย่างน้อย ซึ่งจากการได้พูดคุยกับนักธุรกิจต่างชาติได้สะท้อนมาเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากจะเข้ามาร่วมธุรกิจกับภาคเอกชนของไทย มากกว่าร่วมกับรัฐบาล เพราะเอกชนมีความชัดเจน และไม่มีต้นทุนที่ต้องเสียให้กับการคอร์รัปชั่นเหมือนภาครัฐ
ส่วนเรื่องกรณีนโยบายบางอย่างที่ขาดทุน และไม่ชัดเจน และสร้างความไม่มั่นคงในอนาคต อย่างโครงการที่มีข่าวว่าขาดทุน 2.6 แสนล้าน และมีโอกาสที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส จะปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย แต่รัฐบาลก็ออกมาปฏิเสธ ทว่าก็ไม่สามารถชี้แจงได้ว่าแท้จริงแล้วขาดทุนเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้กระทบต่อภาพลักษณ์ที่ดี ความคาดหวังต่อประเทศไทย และถ้าท้ายที่สุดแล้วถูกลดระดับความน่าเชื่อถือจริงๆ ต้นทุนในการกู้ยืมก็จะสูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ย สุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบก็คือคนไทย 65 ล้านคน