7 องค์กรร่วมลงนาม “ภาคีสร้างคุณธรรม” ป้องคนดีให้มีที่ยืน
7 องค์กรผนึกกำลังต้านวิกฤติสังคมคุณธรรมจริยธรรมบ่งพร่อง ปกป้องผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐให้มีที่ยืน เตรียมนำกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าหารือกำหนดท่าที ชี้ทำงานยึดหลักให้ความสำคัญต่อบ้านเมืองเป็นหลัก
วันที่ 23 ตุลาคม 2556 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "ภาคีเครือข่ายเสริมสร้างพลังคุณธรรมจริยธรรมของแผ่นดิน" ณ โรงแรมสุโกศล
โดยมี นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง นายสีมา สีมานันท์ กรรมการ ก.พ. นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความฯ นายปริญญา ศิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และผู้แทนองค์กรต่างๆ เข้าร่วม
นางผานิต ในฐานะประธานภาคีเครือข่ายเสริมสร้างคุณธรรมฯ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนพลังคุณธรรมจริยธรรมของแผ่นดินอย่างเข้มแข็งเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กรภาคีเครือข่ายในการเสริมสร้างพลังคุณธรรมจริยธรรมของแผ่นดินให้เป็นไปอย่างเข้มแข็งและช่วยผลักดันให้เกิดระบบเฝ้าระวังในสังคม โดยภาคีเครือข่ายฯ จะประชุมใหญ่ในวันที่ 7 พ.ย. 2556 เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางขับเคลื่อนที่เหมาะสมและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายวิชา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติสังคมที่มีคุณธรรมจริยธรรมบ่งพร่องอย่างร้ายแรง หากองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านคุณธรรมจริยธรรมไม่ร่วมมือกันแก้ปัญหาอาจถึงยุคที่บ้านเมืองแตกสลาย โดยทั้ง 7 องค์กร ได้ร่วมกันคิดตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาว่าจะขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมให้ปรากฏทั้งความคิดและการปฏิบัติการ
ขณะที่นายเดชอุดม กล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยหากไม่มีคุณธรรมจริยธรรมก็เป็นระบอบเผด็จการ ปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยขณะนี้ คือ การทุจริตคอร์รัปชั่น ที่ประชาชนยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติมากขึ้น นักกฎหมายไทย ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งเป็น "นักกดขี่กฎหมาย" อ่านกฎหมายไม่เข้าใจ เขียนกฎหมายเพื่อประโยชน์ของชนชั้น ประโยชน์ส่วนบุคคล การออกกฎหมายที่เกิดขึ้นอยู่นี้จึงเป็นลางร้ายของประเทศ
"7 องค์กรมารวมตัวกันเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้น ให้สังคมเข้มแข็งร่วมตรวจสอบคอร์รัปชั่น ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐทุกรูปแบบ การออกกฎหมาย การใช้งบประมาณ ตามหลักนิติศาสตร์ที่ถูกต้อง เสียงส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้แบบไม่สุจริตได้ หากทำเรื่องคุณธรรมจริยธรรมให้เป็นรูปธรรมไม่ได้ คนรุ่นหลังมองว่าคอร์รัปชั่นไม่เป็นอะไร ประเทศไทยจะเป็นอันดับสุดท้ายของอาเซียน"
ด้านนายสีมา กล่าวว่า ก.พ.เป็นหน่วยงานกลางของข้าราชการพลเรือน ครอบคลุมข้าราชการ 2.2 ล้านคนขณะนี้ปัญหาที่พบคือ คนยืนหยัดทำสิ่งที่ถูกต้องไม่มีที่ยืน ทาง 7 องค์กรจะสนับสนุนส่งเสริม ให้กำลังใจแก่ผู้ทำสิ่งที่ถูกต้องให้ทำหน้าที่อย่างมีความกล้า โดยเฉพาคนในภาครัฐ ให้มีความกล้าหาญ หากถูกโยกย้ายหรือเป็นแกะดำในองค์กร เช่น คนที่ออกมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ จะหารือกันว่าสามารถคุ้มครองผู้ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกตั้งกรรมการสอบได้ในระดับไหน อย่างไรก็ตาม ปัญหาคุณธรรมจริยธรรมอยากให้ขยายไปมากกว่าทุจริตคอร์รัปชั่น ให้รวมถึงธรรมาภิบาล โดยเฉพาะในการบริหารองค์กร การแตกตั้ง โยกย้ายที่ทำลายระบบราชการ
ส่วนนายปริญญา กล่าวว่า คุณธรรมจริยธรรมเป็นหลักพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน การทุจริตคอร์รัปชั่นกระทบสิทธิมนุษยชน กระทบสังคมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว การเริ่มต้นของ 7 องค์กรเป็นเพียงตั้งต้น หากจะเกิดพลังอย่างแท้จริงพลังเงียบต้องร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการยอมรับในสังคม
ขณะที่นายธีรภัทร์ ตอบคำถามถึงกรณีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในขณะนี้ว่า ทาง 7 องค์กรจะร่วมหารือกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเพียงพอจึงจะกำหนดท่าทีการก้าวเดินต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 องค์กรทำงานโดยยึดหลักการให้ความสำคัญต่อบ้านเมืองเป็นหลัก ไม่ว่าเรื่องใดต้องมาดูหลักการสำคัญของบ้านเมือง เช่น ระบบเสียงข้างมากในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องเคารพเสียงข้างน้อย หลักเหตุและผล ความชอบธรรมของความคิด หลักคุณธรรมจริยธรรม หลักนิติรัฐนิติธรรม ผลประโยชน์ของบ้านเมืองส่วนรวม นี่เป็นเรื่องสำคัญที่จะใช้ตัดสินใจในภาคีเครือข่ายฯ และไม่สามารถพิจารณาเพียงเสียข้างมากได้
ขอบคุณข่าวจาก http://www.isranews.org/thaireform-other-news/item/24613-m14_24613.html