สภาผู้ส่งออกทางเรือฯ ลดเป้าส่งออกปีนี้เหลือร้อยละ 3
กทม. 30 เม.ย.-สภาผู้ส่งออกทางเรือฯ ปรับเป้าหมายส่งออกทั้งปีเหลือขยายตัวร้อยละ 3 จากเดิมคาดเติบโตร้อยละ 5 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการส่งออกไตรมาสแรกติดลบร้อยละ 1
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการส่งออกโดยรวมของไทยเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีมูลค่า 19,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.12 ส่งผลให้การส่งออกไตรมาสแรกลดลงร้อยละ 1 มีมูลค่า 56,211 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประเทศส่งออกหลัก เช่น อาเซียน ติดลบร้อยละ 10.9 จีน ติดลบร้อยละ 11.2 เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีการส่งออกเติบโตตลอดแต่กลับติดลบสูงมาก โดยสินค้าที่ส่งออกไปอาเซียน คือ กลุ่มสินค้าทุนและวัตถุดิบ เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ เหล็ก
ส่วนปัจจัยกระทบต่อการส่งออกมีหลายด้าน คือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพราะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าจีดีพีของโลกขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3.6 ประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ต้นทุน ด้านพลังงานปรับสูงขึ้น จึงได้ปรับเป้าหมายการส่งออกทั้งปีลดลง จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5 เหลือขยายตัวร้อยละ 3 หลังจากการส่งออกไปอาเซียนเหลือขยายตัวร้อยละ 0.31 ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 2.8 ญี่ปุ่นร้อยละ 3.44 สหรัฐร้อยละ 2.58 ยุโรปร้อยละ 7.09 โดยยอมรับว่าการส่งออกที่ชะลอตัวน่าจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว จากนั้นไตรมาสต่อไปจะมีแนวโน้มดีขึ้น
สำหรับโอกาสของการส่งออกไทย แม้ว่าการส่งออกไปอาเซียนในเดือนมีนาคมจะติดลบร้อยละ 10.9 แต่ตลาดอาเซียนยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะการค้าตามแนวชายแดนที่มีทิศทางบวกต่อเนื่อง จึงต้องมาเน้นการส่งออกในประเทศอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะผลการสำรวจ Lpgistig Performance Index :LPI ล่าสุดไทยอยู่ในระดับ 3.43 อยู่ในอันดับ 35 ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะเริ่มต้นปี 2558 จึงทำให้ยุโรปเร่งสั่งซื้ออาหารของไทยปีนี้ เพราะปีหน้าสินค้าจากไทยจะสูงขึ้น เพราะไทยถูกปรับให้เป็นประเทศมีรายได้ปานกลาง จึงไม่ได้รับสิทธิพิเศษในการลดภาษีให้ไทย ทำให้การส่งออกไปยุโรปขยายตัวร้อยละ 7.09 เพิ่มจากปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.67
นายวัลลภ รัตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกไปยุโรปปีหน้าจะทรุดหนัก เพราะเมื่อครบกำหนดได้รับสิทธิพิเศษเป็นปีสุดท้าย เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอเสียภาษีจากร้อยละ 9.6 จะกลับไปเสียภาษีร้อยละ 12 รองเท้าจากร้อยละ 7 กลับไปเสียภาษีร้อยละ 17.8 อาหารจากร้อยละ 7 กลับไปเสียร้อยละ 20 ขณะที่การเจรจาเสรีทางการค้ากับยุโรปประเทศคู่แข่งคืบหน้าไปมาก โดยสิงคโปร์คาดว่าจะสรุปและเปิดเสรีกับยุโรปได้ปีหน้า เวียดนามกำลังเจรจาคาดว่าสรุปได้ปีนี้ ส่วนไทยเจรจามาแล้ว 4 รอบ แต่ยังไม่สรุป เพราะยังเป็นรัฐบาลรักษาการ เมื่อมีปัญหาการเมืองจึงคาดว่าการเจรจาเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) ของไทย-ยุโรป จะล่าช้าออกไปอีก 1 ปี โดยไทยต้องไปประกาศในเวทีโลกว่าไทยยังเป็นผู้นำของอาเซียน ไม่เช่นนั้นจะเสียอย่างมากต่อการแข่งขันของไทย.-สำนักข่าวไทย