การเมืองยืดเยื้อถึงสิ้นปีนักธุรกิจย้ายลงทุนประเทศอื่นเพิ่มขึ้น
กรุงเทพฯ 25 มี.ค.-หอการค้าไทยเผยผลสำรวจหากการเมืองยืดเยื้อถึงสิ้นปีนักธุรกิจจะย้ายไปลงทุนประเทศอื่นเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว สูญเสียเงินลงทุนถึง 46,000 ล้านบาท
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจนักธุรกิจไทย 300 รายต่อการค้าและการลงทุนของเวียดนาม หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 ผลกระทบต่อประเทศไทย ว่า ขณะนี้ประเทศไทยถูกมองเป็นคนป่วยของอาเซียน เพราะเผชิญปัญหาด้านเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ การเมืองไร้เสถียรภาพ และนักลงทุนขาดความมั่นใจ โดยเฉพาะปัญหาการเมืองและการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ๆ ทำให้ธุรกิจไทยขนาดใหญ่ถึงขนาดกลางรวม 4,000 ราย ที่กำลังพิจารณาไปลงทุนประเทศในอาเซียนมีการตัดสินใจไปลงทุนในประเทศอื่นเร็วขึ้น โดยหากไม่มีปัญหาการเมืองธุรกิจไทย 480 ราย จาก 4,000 ราย ก็เตรียมไปลงทุนในอินโดนีเซีย พม่า และเวียดนาม มูลค่า 77,000 ล้านบาท แต่เมื่อปัญหาการเมืองยืดเยื้อและอาจถึงสิ้นปี 2557 ทำให้การย้ายฐานไปลงทุนเพิ่มเป็น 1,440 ราย หรือมูลค่า 123,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากเดิม เท่ากับไทยสูญเสียเงินลงทุนถึง 46,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากปัญหาการเมืองไทยยืดเยื้อถึงปี 2558 จำนวนธุรกิจจะย้ายไปลงทุนนอกไทยเพิ่มเป็น 2,800 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7 เท่า เท่ากับไทยสูญเสียเงินลงทุน 123,000 ล้านบาท โดยธุรกิจที่มีการย้ายฐานผลิต ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ค้าปลีกค้าส่ง การเงินการประกันภัย อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
นายอัทธ์ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวยังทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดในอาเซียนเพิ่มขึ้นให้เวียดนาม จากเดิม 12 รายการหรือร้อยละ 13 ของสินค้าที่ค้าขายในอาเซียน เป็นร้อยละ 23 อาทิ ข้าว ยาสูบ สิ่งทอ ชา กาแฟ เครื่องเทศ ธัญพืช เครื่องแต่งกาย เซรามิค เหล็ก เครื่องแก้ว เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก เป็นต้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าที่เสียไป 943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 29,500 ล้านบาท ซึ่งบางส่วนเป็นผลจากต้นทุนและแรงงานสูงกว่าเวียดนาม
นอกจากนี้ ไทยจะสูญเสียเงินจากการลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) จากอาเซียนที่หันไปลงทุนเวียดนาม 5,541 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 6 ปีหลังเปิดเออีซี หรือภายในปี 2020 จากปัจจุบันเงินลงทุนอาเซียนเข้าไป 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เวียดนามมีมูลค่าลงทุน 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 6 ปีข้างหน้าคาดว่า เงินลงทุนในเวียดนามสูงถึง 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไทยมีเพียง 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่เวียดนามยังมีปัญหาข้อจำกัดด้านสาธารณูปโภค ระบบขนส่งไม่สะดวกและต้นทุนสูง ค่าแรงงานเพิ่มต่อเนื่องแต่ประสิทธิภาพแรงงานไม่เท่าไทย ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการลักลอบค้าชายแดนยังสูง.-สำนักข่าวไทย