การเมืองภาคประชาชนในอาเซียน

การเมืองภาคประชาชนในอาเซียน

การเมืองภาคประชาชนในอาเซียน : โลกสาระจิปาถะ โดยกวี จงกิจถาวร


              การเมืองภาคประชาชนกำลังเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าสนใจในอาเซียน เนื่องจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีกเจ็ดร้อยกว่าวัน ทั้งในไทย กัมพูชา มาเลเซีย และพม่า คลื่นประชาชนได้แสดงถึงพลังของมวลชนในการเปลี่ยนแปลงสังคม

              ในปีที่แล้วฝ่ายค้านมาเลเซียน โดย อดีตรองนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบรอฮิม ได้เคลื่อนไหวมวลชนใหญ่โตมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ท้าทายรัฐบาลที่โกงการเลือกตั้ง แต่ในที่สุดต้องอ่อนล้าลงไปในช่วงกลางปีที่แล้ว เนื่องจากความแตกแยกของกลุ่มประท้วงที่มีหลายชาติพันธุ์ ต้องมีการประนีประนอมกันมาก และยังเป็นเป้าหมายของการโฆษณาชวนเชื่อของทางรัฐบาลอีก

              การเมืองกัมพูชากำลังเข้มข้น พรรคฝ่ายค้านนำโดย นายสม รังสี หัวหน้าพรรคกัมพูชากู้ชาติ ได้บอยคอยการประชุมสภาหลังจากการเลือกตั้งปีที่แล้ว ไม่ยอมร่วมมือกับพรรคประชาชนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ถือว่าโกงการเลือกตั้ง เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ ก็ไม่ได้ผล ครึ่งปีกว่าที่ผ่านมามีการเจรจากันทั้งสองฝ่ายแต่ตกลงกันไมได้

              นักวิเคราะห์ในภูมิภาคให้ความเห็นว่า กัมพูชากำลังเลียนแบบการเมืองไทย โดยมีพลังประชาชนเป็นแกนนำในการประท้วงและการจัดการประท้วงที่มีรูปแบบ เพื่อขับไล่รัฐบาลทรรราชที่มาจากการเลือกตั้ง

              ที่น่าสนใจคือ สมาชิกอาเซียนที่มีการเรียกร้องของฝ่ายประชาชนนั้น ล้วนเป็นประเทศที่มีระบอบการเมืองแบบพหุภาคีและมีเสรีภาพสื่อในระดับหนึ่ง รวมทั้งอิทธิพลของการใช้โซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มต่างๆ ในหมู่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำให้ประชาชนทั่วๆ ไปมีความตื่นตัวทางการเมือง

              ยกตัวอย่างชัดเจนคือ การเมืองปฏิรูปการเมืองในพม่า ก่อนหน้านี้ ประชาชน พระสงฆ์ รวมทั้งนักเรียน ได้ลุกฮือออกมาประท้วงอย่างหนาแน่น ต่อสู้กับรัฐบาลทหารมานาน จนทำให้ผู้นำทหารพม่ายอมปฏิรูปการเมืองหลังปี 2011 ต้องยอมรับว่า มีผลตอบรับอย่างรวดเร็วต่อการเปลี่ยนแปลงท่าทีของประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เช่น สหรัฐอเมริกา อียู ที่หันกลับมาสนใจพัวพันกับพม่าอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้โดดเดี่ยวพม่ามาเป็นเวลานานถึง 20 ปี

              การเปิดกว้างของสังคมพม่าครั้งนี้ ทำให้มีการถกกันอย่างกว้างขวางในประเด็นต่างๆ ภายในประเทศ เช่นปัญหาชาวโรฮิงญา ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สุดในขณะนี้ รัฐบาลพม่ายังไม่ยอมรับว่ามีปัญหานี้ในประเทศโดยอ้างว่าเป็นปัญหาของคนต่างชาติหนีเข้าเมือง การไม่ยอมรับปัญหานี้จะทำให้ประธานอาเซียนปีนี้มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ

              ที่ผ่านมาสาม-สี่ปีที่ผ่านมา สมาชิกอาเซียนอื่นๆ พยายามผลักดันให้มีการบรรจุประเด็นนี้ในวาระอาเซียนเวลาผู้นำพบกัน เพื่อต้องการหาข้อยุติสามารถแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่องทั้งในภูมิภาค ตอนอินโดนีเซียเป็นประธานในปี 2011 มีความพยายามจะหยิบยกประเด็นนี้ ในการประชุมอาเซียน แต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากถือว่าเป็นการละเมิดเรื่องภายในประเทศ

              ปีนี้พม่าเป็ประธานอาเซียนและมีจุดยืนชัดเจนว่า ปัญหาภายในประเทศจะไม่หยิบขึ้นมาถกในวาระอาเซียนเด็ดขาด พม่าพยายามจะหยิบประเด็นการเมืองระหว่างประเทศขึ้นมาพูดแทน เช่น ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ เพื่อกลบเรื่องภายในประเทศ ดูเหมือนว่าพม่ามีความสามารถทางการทูตสูงมาก

              ที่น่าสนใจคือ การเมืองไร้เสถียรภาพในสมาชิกอาเซียน เช่นในไทยและกัมพูชาเริ่มส่งผลกระทบกระเทือนต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอีกในไม่ช้า เนื่องจากอาเซียนต้องการบูรณาการทั้งประชาคมที่มีทั้งการเมืองและสังคม ฝ่ายค้านในกัมพูชาได้พูดชัดเจนว่า ต้องการเดินตามแนวการประท้วงของไทยที่ใช้หลักอหิงสา

              ในอนาคต อาเซียนอาจจะต้องมีกลไกใหม่ที่สามารถช่วยให้ประเทศอาเซียนด้วยกันแก้ไขปัญหาภายในสมาชิกให้เรียบร้อยโดยไม่ต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นการแทรกแซง การเป็นประชาคมอาเซียนทางด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวจะไม่ยืนยง ต้องมีประชาคมด้านการเมืองความมั่นคงและสังคมเข้ามาอุ้มชู

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

286

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน