'ตลาดทุนไทย'เชื่อมโยงสู่ซีแอลเอ็มวี

'ตลาดทุนไทย'เชื่อมโยงสู่ซีแอลเอ็มวี

เปิดหูเปิดตาอาเซียน : ตลาดทุนไทย...โอกาสในการเชื่อมโยงไปสู่ซีแอลเอ็มวี

 

                            นับจากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในปี 2551 นานาประเทศได้หันมาให้ความสนใจกับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในแถบภูมิภาคเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินในระดับที่ไม่รุนแรงสามารถรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี และเมื่อประกอบกับปัจจัยด้านแนวคิดการรวมกลุ่มประเทศและแนวทางลดการกีดกันทางการค้าและการเงินในภูมิภาคต่างๆ อาทิ การเปิดเสรีประชาคมอาเซียน หรือเออีซี นโยบายการเปิดประเทศและเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม) ได้เผยให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศเหล่านั้น และโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายการค้าการลงทุนและการเงินที่เป็นไปในทางเสรีมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้วันนี้มีนักลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี เป็นจำนวนมาก

                            "สุวิสาส์ เผ่าเหลืองทอง" และ "ศิริยศ จุฑานนท์" จากฝ่ายวิจัยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุในงานวิจัย "ตลาดทุนไทย...โอกาสในการเชื่อมโยงไปสู่การลงทุนในซีแอลเอ็มวี ว่า หากพิจารณาอัตราการเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติของประเทศในกลุ่มดังกล่าว ในช่วงปี 2543-2554 พบว่ามีค่าเฉลี่ยถึง 7-12% ต่อปี จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุน นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้รัฐบาลในหลายๆ ประเทศ เสนอตัวเข้าจัดตั้งองค์กรให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงด้านเงินทุนด้วย เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่าประเทศในกลุ่มนี้ยังต้องพัฒนาในด้านต่างๆ อีกมาก และมีความต้องการในด้านเงินทุน เทคโนโลยี รวมถึงบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อมาบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

                            อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ต้องเร่งแก้ไขและพัฒนาโดยเร็วเพื่อสนับสนุนการเติบโตของประเทศ ได้แก่ ระบบการเงินของกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า 1.ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีระดับการพัฒนาไม่มากนักและระบบการชำระเงินที่เป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง อาจก่อให้เกิดปัญหาปริมาณเงินปล่อยกู้ในระบบไม่เพียงพอต่อความต้องการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนได้ในอนาคต และ 2.การใช้เครื่องมือด้านตลาดทุน เพื่อระดมทุนจากนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศยังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากติดปัญหาหลายประการ เช่น ภาคธุรกิจเอกชนยังขาดความพร้อม โครงสร้างพื้นฐานของตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้ยังตอบสนองต่อความต้องการใช้บริการได้จำกัดต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก เป็นต้น

                            จากเหตุผลข้างต้น แม้ว่าโอกาสในอนาคตกำลังรออยู่สำหรับการเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี แต่ในทางกลับกันก็มีอุปสรรคอยู่ค่อนข้างมากสำหรับนักลงทุนที่ต้องการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ ซึ่งโอกาสและอุปสรรคที่ประเทศเหล่านี้ กำลังเผชิญอยู่นี้ถือเป็นโจทย์ที่สำคัญและท้าทายประเทศไทย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดอีกทั้งถือเป็นประเทศที่ระบบการเงินพัฒนาไปค่อนข้างมากแล้ว ที่จะสามารถมีแนวนโยบายในการสนับสนุนช่วยเหลือหรือเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี สามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น

                            นอกจากนี้ ในแง่ของผลประโยชน์ต่อประเทศไทยเอง การให้ความสำคัญและสนับสนุนตลาดทุนของกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีในด้านต่างๆ ถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของภูมิภาค และเป็นจังหวะที่ดีในการผลักดันตลาดทุนไทยให้สามารถเป็นจุดเชื่อมโยงตลาดทุนในซีแอลเอ็มวี สอดรับกับการเปิดเสรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (เออีซี) ที่จะมาถึงในอีก 2 ปีข้างหน้านี้

                            จากข้อจำกัดในหลายๆ ด้านที่เป็นอุปสรรคในการสนับสนุนการพัฒนาภาคเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศในภูมิภาคซีแอลเอ็มวี ประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นตลอดจนโอกาสที่ตลาดทุนไทยเป็นทางเลือกสำคัญในการสนับสนุนระดมทุนและการลงทุนของภูมิภาค ตลอดจนเป็นผู้มีบทบาทในการเป็นจุดเชื่อมโยงด้านตลาดทุนให้กับภูมิภาคอาเซียน และซีแอลเอ็มวี ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านตลาดทุนได้ดำเนินการผลักดันและจัดเตรียมมาตรการต่างๆ ที่จะสนับสนุนให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงทั้งแหล่งระดมทุนและลงทุนให้แก่กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี รวมถึงภูมิภาคต่างๆ ดังนี้

                            1.การเปิดให้มีบริษัทต่างประเทศ (Foreign Issuer) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย

                            2.การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure fund)

                            3.พันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลบาทในประเทศไทย : Baht bond

                            4.หุ้นกู้สกุลงินตราต่างประเทศในประเทศไทย : FX bond

                            5.การสนับสนุนบริษัทในรูปแบบ Holding company เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

 

 

 

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

266

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน