ประธานอาเซียนพม่าเริ่มออกฤทธิ์
ประธานอาเซียนพม่าเริ่มออกฤทธิ์
ประธานอาเซียนพม่าเริ่มออกฤทธิ์ : คอลัมน์โลกสาระจิปาถะ : โดย...กวี จงกิจถาวร
ย่างกุ้ง-ประธานอาเซียนใหม่พม่า ได้จัดการประชุมครั้งแรกอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่เมืองหลวงโบราณพุกามระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เพื่อระดมสมองและความคิด ปรากฏว่าสร้างความฮือฮาพอสมควร เพราะมีแถลงการณ์ออกมาเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค ถือว่าเป็นครั้งแรกที่การประชุมแบบกันเอง (retreat) มีจุดยืนแบบนั้น
นอกจากนั้นยังมีรัฐมนตรีต่างประเทศ วุนนา เมืองลิน กับนายเย ตุท เป็นโฆษก ทั้งคู่มีบทบาทที่ต่างกัน การแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ มีความเข้มข้นที่ต่างกันเช่นกัน
พอสรุปได้ว่า ประธานพม่าปีนี้ รับรองได้ว่า จะเป็นแบบอนุรักษนิยม ค่อยเป็นค่อยไป คือจะไม่มีการเลือกข้างแบบที่กัมพูชาได้ทำประวัติศาสตร์ไว้สองปีก่อนเล่นเอาอาเซียนเสียศูนย์ไปเลย พม่ารู้ตัวดีว่า ทั้งภูมิภาคและในต่างประเทศกำลังจับตาดูประธานอาเซียนปีนี้ว่าจะมีจุดยืนในเรื่องต่างๆ อย่างไรบ้าง
มีสามประเด็นใหญ่ที่พม่าต้องใช้ความสามารถส่วนตัว ทั้งการทูตและที่ตั้งจุดยุทธศาสร์ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เรื่องแรกคือ ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจในบริบทอาเซียน เรื่องที่สองเกี่ยวกับอาเซียนและบทบาทภาคประชาสังคมในอาเซียน
ตามจริง อาเซียนกำลังปวดหัวมากๆ กับความตึงเครียดในระดับประเทศคู่เจรจาระดับท็อปทั้งหลาย โดยเฉพาะมิตรภาพระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน อีกคู่คือ จีนกับญี่ปุ่น สองประเด็นหลักนี้ พม่าต้องการแรงสนับสนุนจากอาเซียน ผสมผสานกับอำนาจการต่อรองของตัวเองที่ได้มาหลังปฏิรูปสองปีกว่าที่ผ่านมา
เย ตุท รัฐมนตรีช่วยสารนิเทศคนเก่งของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง โฆษกประจำตัวประธานาธิบดีในปัจจุบัน ได้รับมอบหมายให้มาเป็นโฆษกของการประชุมอาเซียนอีกหนึ่งตำแหน่งด้วย ประเด็นนี้น่าสนใจ แสดงให้เห็นถึงระดับความสำคัญที่เต็ง เส่ง ให้แก่การเป็นประธานอาเซียนของพม่า
พม่าได้ปรับและฟื้นฟูสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2510 ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบกระเทือนมากต่ออาเซียนและภูมิภาคเอเชียโดยทั่วไป ในอดีตพม่าถูกกีดกันจากประชาคมโลกไม่มีบทบาทอะไร ตอนนี้พม่าเป็นดาร์ลิ่งของการเมืองเอเชียก็ว่าได้
พม่าต้องใช้อาเซียนให้เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างบารมีของประเทศตนเอง เพราะพม่ายังปัญหามากมายที่ต้องให้ความสนใจ เพราะประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกๆ วัน
ในช่วงที่ผ่านมา สัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นกลายเป็นประเด็นอาเซียนมีปัญหามากที่สุด ลึกๆ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เพื่อให้มีนโยบายรักษามิตรภาพกับมหามิตรเอเชียทั้งคู่ เพื่อรักษาผลประโยชน์อาเซียนมากที่สุด
อาเซียนคุ้นเคยกับการพัวพันกับจีนและสหรัฐอเมริกา ทั้งในช่วงและหลังสงครามเย็น อาเซียนได้เข้าข้างทางสหรัฐอเมริกามากตลอด เนื่องจากกลัวภัยคอมมิวนิสต์ ต่อมาจีนได้เปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจในช่สงสามสิบปีที่ผ่านมา อาเซียนจึงหันมาพัฒนามิตรภาพกับจีน จนกลายเป็นคู่เจรจาอันดับหนึ่งของอาเซียนในปัจจุบัน
แต่ปีนี้ประธานพม่าต้องเผชิญกับประเด็นท้าทายในการจัดการแทนอาเซียนในความสัมพันธ์จีนและญี่ปุ่น ทั้งคู่มีประวัติศาสตร์และเบื้องหลังกับพม่าในรูปแบบที่ต่างกัน ก่อนการปฏิรูปพม่าต้องพึ่งจีนในทุกมิติเนื่องจากไม่มีเพื่อน
ในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พม่าพยายามจะช่วยสมาชิกใหม่ โดยเฉพาะลาวและกัมพูชาในเข้าสู่ประชาคมนี้โดยเร็ว อาเซียนยังต้องการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบใหญ่คือ (regional comprehensive economic partnership) ซึ่งตอนนี้เพิ่งเริ่มต้น
พม่าจะไม่หยิบยกประเด็นละเอียดอ่อนภายในประเทศ เช่น ปัญหาชาวโรฮิงญา เพราะถือว่ามันเป็นเรื่องภายในประเทศ โฆษกเย ทุต พูดชัดว่า ประธานอาเซียนจะไม่หยิบยกเรื่องเหล่านี้ในที่ประชุมในทุกๆ กรอบ
เรื่องสุดท้าย ประธานพม่าสามารถเก็บคะแนนคือ ภาคประชาสังคม ห้าปีที่ผ่านมา พม่ามีภาคประชาสังคมที่มีพลวัตมากจนทำให้สมาชิกอาเซียนบางประเทศต้องชิดซ้ายไปเลย ประธานยอมให้จัดการประชุมภาคประชาสังคมแล้ว ซึ่งจะมีขึ้นก่อนการประชุมอาเซียนซัมมิตในปลายเดือนมีนาคม
ที่น่าสนใจ สมาชิกอาเซียนและประชาคมนานาชาติต่างเอาใจช่วยพม่า อยากเห็นพม่าประสบความสำเร็จในการเป็นประธานอาเซียนและมีประชาธิปไตย มีความสงบและความปรองดองระหว่างชนกลุ่มน้อย
........................
(ประธานอาเซียนพม่าเริ่มออกฤทธิ์ : คอลัมน์โลกสาระจิปาถะ : โดย...กวี จงกิจถาวร)