ชูวัฒนธรรมมุสลิมวิถีอยู่ร่วมกันในอาเซียน

ชูวัฒนธรรมมุสลิมวิถีอยู่ร่วมกันในอาเซียน

3ภาคี CMP, AMRON และ สกว. จัดประชุมวิชาการโลกมุสลิม 2556 ชูประเด็นเสาหลักด้านวัฒนธรรมของมุสลิมในอาเซียน


              22พ.ค.2556 ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ  ศูนย์นโยบายโลกมุสลิม (CMP) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยมุสลิมอาเซียน (AMRON) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการประชุมวิชาการโลกมุสลิม ประจำปี 2556 ในหัวข้อเรื่อง “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือเชิงแข่งขันและมรดกทางวัฒนธรรมของมุสลิมในประชาคมอาเซียน” เพื่อรวบรวมและนำเสนอองค์ความรู้ในเชิงสังคมศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันของชนต่างศาสนา วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ในอาเซียน พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเสาหลักทั้ง 3 ด้านประกอบด้วยเศรษฐกิจ ความมั่นคง และวัฒนธรรมของประชาคมอาเซียน ตลอดจนนำเสนองานวิจัยด้านวัฒนธรรมร่วมกันของไทยกับ 4 คู่ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย จีนยูนาน พม่า และกัมพูชา

              รองศาสตราจารย์ ดร.พรพจน์ เปี่ยมสมบูรณ์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2558 กลุ่มประเทศอาเซียนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ การรวมตัวเป็นประชาคมเดียวกัน ทำให้ผู้คนในประเทศต่างๆ ในอาเซียนเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนได้ง่ายขึ้น เงินทุน สินค้า และข้อมูลข่าวสารเคลื่อนไหวได้ง่ายและรวดเร็วเสมือนไม่มีขอบเขต สังคมมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยเองได้มีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมแล้วในหลายด้าน รวมทั้งสะสมองค์ความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านใกล้ชิดของเรา โดยเฉพาะที่เป็นประเทศมุสลิม เพราะประเทศเหล่านี้มีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะมองจากขนาดของพื้นที่ จำนวนประชากรกว่า 300 ล้านคน ศาสนา วัฒนธรรม และภาษา หรืออำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประชาคมอาเซียน โดยงานครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่จะเติมเต็มองค์ความรู้เกี่ยวกับโลกมุสลิมในด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง และด้านสังคมวัฒนธรรมให้แพร่หลายมากขึ้น ทั้งยังจะเป็นการสร้างเครือข่ายทางวิชาการที่เกี่ยวกับโลกมุสลิมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และการเสนอแนะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมได้เป็นอย่างดี"

              ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า งานประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้มีการนำเสนอบทความวิชาการ โดยเครือข่ายนักวิชาการในอาเซียนภายใต้โครงการวิจัย เรื่อง “การมีวิถีชีวิตร่วมกันของชนต่างศาสนาวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ในกลุ่มประเทศอาเซียน” ที่ สกว. ได้ให้การสนับสนุน โดยโครงการนี้มุ่งศึกษาและทำความเข้าใจถึงการมีวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรมร่วมกันของพลเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเป็นข้อมูลความรู้ที่ช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจถึงพื้นฐานรากเหง้าทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน โดยอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายนักวิจัยมุสลิมอาเซียนหรือ AMRON  ซึ่งความมุ่งหมายของโครงการนี้นอกจากจะเป็นการสร้างองค์ความรู้เพื่อตอบสนองรองรับหนึ่งในเสาหลักของอาเซียนคือ ด้านสังคมวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการเปิดประเด็นการดำรงอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายชาติพันธุ์ ความเชื่อทางศาสนา และวัฒนธรรม ที่ดำรงอยู่ร่วมกันในบริบทของประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยมีประเทศไทยเป็นจุดร่วมในการศึกษาวิจัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และนำผลวิจัยไปใช้กับการปรับตัวของผู้คนในประเทศที่เกี่ยวข้อง ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่กี่ปีข้างหน้า”

              สำหรับรายละเอียดการจัดประชุมวิชาการโลกมุสลิมประจำปี 2556 รองศาสตราจารย์ ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายโลกมุสลิม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า การประชุมวิชาการโลกมุสลิม เป็นกิจกรรมที่ศูนย์นโยบายโลกมุสลิมตั้งใจจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งในปีนี้จัดขึ้น 2 วัน โดยศูนย์นโยบายโลกมุสลิมร่วมกับ สกว. ร่วมกันจัดประชุมวิชาการเพื่อรวมตัวเครือข่าย AMRON ในแต่ละประเทศมานำเสนองาน มีวัตถุประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนมุสลิมในประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว เวียดนาม พม่า สิงคโปร์ บรูไน และไทย ทั้งนี้ ภายในงานประชุมจะมีการนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ การตั้งถิ่นฐาน วิถีชีวิต เสรีภาพทางศาสนา แรงงาน การจัดการองค์กรธุรกิจ การศึกษา และศาสนสมบัติตามแนวทางอิสลาม ตลอจนประเด็นความร่วมมือในอุตสาหกรรมฮาลาล เชื่อได้ว่าจะสามารถรวบรวมและนำเสนอองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถวางท่าทีและนโยบายต่อประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะที่เป็นประเทศมุสลิมได้อย่างถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่มต่อไป

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

318

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน