กระแส'เออีซี'ปั๊มค้าชายแดน

กระแส'เออีซี'ปั๊มค้าชายแดน

เปิดหูเปิดตาอาเซียน : กระแส 'เออีซี' ปั๊มค้าชายแดน แรงหนุนสำคัญเศรษฐกิจภูมิภาค

 

                         ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2557 โดยลดลงจากคาดการณ์เดิมที่เติบโต 5.1% เหลือ 4.5% และเมื่อแยกตามภูมิภาค ได้มีการปรับลดแนวโน้มลงเช่นกัน แต่ก็ยังเป็นการเติบโตจากปีก่อน ด้วยปัจจัยบวก คือการค้าชายแดน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ตลอดจนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของจังหวัด การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

                         โดยพบว่า ภูมิภาคที่จะมีการเติบโตสูงสุดในปีนี้ คือ ภาคกลางเติบโต 5.4% รองมา กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขยายตัว 4.2% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) 3.7% ภาคใต้ 3.6% และภาคเหนือ 3.3% ขณะที่กระแสการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งจะมีผลหลังปี 2558 นั้น ยังมีส่วนผลักดันให้การค้าชายแดนคึกคักขึ้น

                         ทั้งนี้ เศรษฐกิจภาคเหนือคาดว่าจะเติบโตจาก 2.2% ในปี 2556 เป็น 3.3% ในปีนี้ เนื่องจากการค้าชายแดนขยายตัวดี และท่องเที่ยวขยายตัวตามฤดูกาล แต่ยังมีความกังวลในหลายด้าน โดยเฉพาะรายได้จากการทำเกษตรที่มีแนวโน้มไม่แน่นอน และการได้รับเงินล่าช้าจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีปัจจัยค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ปริมาณนักท่องเที่ยว ต้นทุนการผลิตสินค้า และเสถียรภาพของรัฐบาลกลาง

                         ส่วนเศรษฐกิจของภาคอีสาน คาดว่าจะเติบโตจาก 2.4% เป็น 3.7% ในปีนี้ ด้วยแรงผลักดันจากการค้าชายแดนที่ขยายตัวมากขึ้น ส่วนปัจจัยลบที่นอกเหนือจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น และความไม่แน่นอนของรายได้ของประชากรในภูมิภาคแล้ว ภาคอีสานยังเผชิญกับปัจจัยเรื่องภัยธรรมชาติที่มีผลต่อพืชผลทางการเกษตรเสียหาย และหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย

                         ภาคใต้ คาดว่าจีดีพีภูมิภาคจะขยายจาก 2.4% เป็น 3.6% ในปีนี้ อานิสงส์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะมาจากปัจจัยการท่องเที่ยว ส่วนราคายางจะทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังต้องเผชิญกับความผันผวนด้านราคาในปีนี้ต่อเนื่อง ส่วนภาคกลาง คาดว่าจะขยายตัวจาก 3.6% เป็น 5.4% ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว ประกอบกับอุตสาหกรรมไทยมีโอกาสขยายตัวได้จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการค้าชายแดนขยายตัวสูง

                         สำหรับเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่าจะขยายตัวจาก 2.8% ในปี 2556 เป็น 4.2% ในปี 2557

                         นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่ ทั้งภาคการเงินและการค้าอยู่ในกรุงเทพฯ จึงถือเป็นศูนย์กลางทั้งหมด มีโครงสร้างเศรษฐกิจคิดเป็น 30-40% ของจีดีพีประเทศที่ผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในปี 2556 เป็น 3% อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ปัญหาเสถียรภาพการเมืองไทย อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ปัญหาค่าครองชีพ การกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ และการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินไทย

                         "การเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยของแต่ละภูมิภาคเอง เช่น ภาคใต้ ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว รวมทั้งยางพารา ที่จะมีผลให้เติบโตได้หรือไม่ ภาคอีสานก็ขึ้นอยู่กับราคาข้าว และราคายางเป็นหลัก ส่วนภาคเหนือ จะเน้นในส่วนของอุตสาหกรรมขนาดเล็ก และการค้าชายแดนเข้ามามีบทบาทมาก ส่วนการจะดึงราคาพืชผลทางการเกษตรให้สูงขึ้น จะขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล ที่ต้องดูว่าจะให้ความสำคัญกับภูมิภาคไหน และจังหวัดใดมากกว่ากัน"

                         ด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในปี 2557 มีทั้งปัจจัยบวกและลบที่จะมีผลต่อการเติบโตของกลุ่มนี้ ปัจจัยบวกได้แก่ นโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวด้านการท่องเที่ยวของไทย ที่ยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ

                         แต่ปัจจัยลบก็คือ ความไม่แน่นอนด้านเสถียรภาพทางการเมือง ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง การเข้ามาแข่งขันของคู่แข่งจากต่างประเทศและรายใหญ่ รวมทั้งปัจจัยเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งอยู่ในระดับสูงเท่ากันในทุกพื้นที่ทำให้หาแรงงานยาก และมีต้นทุนสูง ปัจจัยลบสุดท้ายก็คือความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

                         สำหรับกระแส "เออีซี" นั้น นายวชิร กล่าวว่า มีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจในภูมิภาคขยายตัวได้ชัดเจน โดยเป็นการขยายตัวทางด้านการค้าชายแดน และที่จะเห็นการเติบโตชัดเจนคือภูมิภาคที่มีชายแดนติดอยู่กับประเทศพม่า และลาว นั่นหมายถึงทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และทางภาคอีสาน โดยเฉพาะในโซนที่มีการเปิดเศรษฐกิจใหม่ๆ จะเริ่มเห็นว่ามีมูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้น แต่ที่ยังโดดเด่นคือภาคเหนือ ด่านชายแดนที่ติดกับ จ.เชียงราย และ จ.แม่ฮ่องสอน และยังมีที่น่าจับตามองคือ ชายแดนติด จ.ราชบุรี ซึ่งกำลังมีการผลักดันเปิดด่านถาวร

                         "ชายแดนติดกับประเทศลาวนั้น เป็นที่น่าสนใจ เนื่องจากลาวจะเป็นทางเชื่อมระหว่างไทยไปสู่ประเทศเวียดนาม แต่ก็ถือว่าชายแดนที่ติดฝั่งพม่าจะมีความโดดเด่นกว่า ส่วนภาคใต้ยังถือว่าการค้าชายแดนมีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ตลาดใหม่ และขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายพื้นที่" นายวชิร กล่าวและว่า ส่วนด่านชายแดนที่ติดกับประเทศกัมพูชาก็น่าจะมีความคึกคักขึ้นเช่นกัน โดยขณะนี้มีโครงการการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ที่เป็นลักษณะนักธุรกิจของทั้งสองประเทศจะมาทำการค้าในพื้นที่ส่วนกลางระหว่างกัน

                         "การค้าชายแดนในปี 2557 นั้น คาดว่ารูปแบบการค้าจะเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น เนื่องจากกระแสเออีซี และยังมีส่วนผลักดันให้การค้าชายแดนมีความคึกคัก โดยจะเป็นปัจจัยที่พยุงเศรษฐกิจภูมิภาคในปีนี้พอสมควร" นายวชิร กล่าวในที่สุด
 

 

 

 

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

246

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน