“สมเด็จพระเทพฯ” ทรงติดตามผลการดำเนินโครงการตามพระราชดำริ จ.ตาก
วันนี้( 24 ธ.ค.56 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามผลการดำเนินโครงการตามพระราชดำริ ที่จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 23 – 25 ธันวาคมนี้
วานนี้เวลา 08.07 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังลานเก็บกองดินเหมืองผาแดง บริษัท ผาแดง อินดัสทรี จำกัด มหาชน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทรงฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินโครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเหมืองผาแดง และโครงการปลูกหญ้าแฝกเพี่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตามแนวพระราชดำริ ที่บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด มหาชน จัดทำขึ้น เมื่อปี 2546 เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูบริเวณเหมืองเมื่อสิ้นสุดการทำเหมือง ให้กลับสู่สภาพป่าธรรมชาติ และเป็นแบบอย่างแก่เหมืองอื่น โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่สิ้นสุดการทำเหมือง เพี่อสร้างความชุ่มชื้นของดิน และลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ก่อนจะปลูกป่าทดแทน เพื่อสร้างความสมบูรณ์ทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน มีการศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝกสายพันธุ์ชนิดต่าง ๆ 39 สายพันธุ์ ซึ่งพันธุ์ที่เหมาะสม คือ พันธุ์กำแพงเพชร 2 เพราะทนความร้อนได้ดี
จากนั้น ทอดพระเนตรต้นลำภูป่า ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ที่ทรงปลูกในพื้นที่โครงการ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ปัจจุบันเจริญเติบโตสูงใหญ่ สำหรับโครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเหมืองผาแดง และโครงการปลูกหญ้าแฝกเพี่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตามแนวพระราชดำริ มีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ 1,040 ไร่ โครงการจะสิ้นสุดในปี 2566 ปัจจุบันปลูกหญ้าแฝกไปแล้ว 587 ไร่ รวม 17.5 ล้านต้น นับเป็นบริษัทเหมืองแร่สังกะสีแห่งแรกที่นำหญ้าแฝกมาใช้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ควบคู่กับการทำเหมืองที่ประสบผลสำเร็จ จนได้รับรางวัลสถานประกอบการเหมืองแร่สีเขียว 3 ปีติดต่อกันนับแต่ปี 2553
เวลา 09.06 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “ห้องสมุดพร้อมปัญญา เรือนจำอำเภอแม่สอด” เรือนจำแห่งนี้ มีผู้ต้องขังในความควบคุมที่มีกำหนดโทษไม่เกิน 10 ปี 960 คน เป็นหญิง 144 คน มีเจ้าหน้าที่ 58 นาย เป็นเรือนจำนำร่องด้านการแก้ไข พัฒนานิสัยผู้ต้องขัง ซึ่งน้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ด้านการแก้ไข ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทัศนคติในรูปแบบบูรณาการ เพื่อให้ผู้ต้องขังมีระเบียบวินัย มีจิตอาสา รู้จักเสียสละอุทิศตนควบคู่กับการมีทักษะวิชาชีพ
ทั้งยังเป็นเรือนจำต้นแบบที่นำกระบวนการลูกเสือเข้ามาแก้ไขพฤติกรรมและนิสัยผู้ต้องขังอย่างเป็นระบบ ภายใต้แนวคิด “การคืนคนดีกลับสู่สังคมด้วยอุดมการณ์ลูกเสือ” ร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ สำนักกิจการลูกเสือ ยุวกาชาด จัดอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสามัญ ขั้นความรู้เบื้องต้นให้กับผู้ต้องขัง ปีนี้มีผู้ผ่านการอบรม 160 คน รวมทั้งมีผู้บัญชาการเรือนจำ และเจ้าหน้าที่ ผ่านการอบรมและมีคุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถทางลูกเสือเพื่อพัฒนากิจการลูกเสือราชทัณฑ์ ด้านการศึกษา จัดสอนหนังสือแก่ผู้ต้องขังที่ไม่รู้หนังสือจนถึงระดับอุดมศึกษา และยังเปิดสอนบาลีแก่ผู้ต้องขังเป็นแห่งแรกของกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้ผู้ใฝ่รู้ทางศาสนาได้ศึกษาต่อหลังเรียนจบธรรมศึกษา มีผู้ต้องขังเข้าศึกษารุ่นแรก 30 คนสำหรับห้องสมุดพร้อมปัญญา กรมราชทัณฑ์ และผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันสร้างขึ้นปี 2550 และได้ร่วมกับสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ พัฒนายกระดับให้ทันสมัย ในปี 2556 มีสื่อสารสนเทศ หนังสือ วารสาร นิตยสาร สื่ออิเลคทรอนิคส์ และหนังสือพระราชนิพนธ์กว่า 6,000 รายการ โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการ ผลงานลูกเสือ ผลงานการศึกษา และการฝึกอาชีพ
ต่อมา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานศูนย์ศึกษาโครงการส่งเสริมการเรียนรู้การปลูกอ้อยตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี โรงเรียนแม่กุวิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบนำร่อง ทำการศึกษาทดลองปลูก และคัดเลือกสายพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาผลิตผลทางการเกษตรปนเปื้อนโลหะแคดเมียม ในระดับที่สูงกว่าค่ามาตรฐานทำให้ไม่เหมาะสมต่อการบริโภค โดยส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตพลังงานทดแทน รวมถึง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมการปลูกอ้อยที่ถูกวิธีให้กับนักเรียนและเยาวชน สามารถปลูกอ้อยคุณภาพดีได้ผลผลิตต่อไร่สูงเพียงพอต่อการใช้ผลิตพลังงานเชื้อเพลิง โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ปลูกอ้อย9 สายพันธุ์ บนแปลงสาธิตฯ เนื้อที่ 3 งาน เพื่อศึกษาการเจริญเติบโต การให้ผลผลิตของอ้อยแต่ละสายพันธุ์ และคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมต่อพื้นที่ สำหรับแจกจ่ายพันธุ์อ้อยให้แก่เกษตรกรต่อไป พร้อมกันนี้ ได้ทอดพระเนตรการดำเนินงานช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่อำเภอแม่สอด ที่ได้รับความเดือดร้อนจากดินถล่มในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา พร้อมทั้งทรงเยี่ยมราษฎรที่มารอรับเสด็จ
เวลา 13.21 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลการดำเนินงานของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านแม่กลองคี อำเภออุ้มผางเปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- 6 รวม 365 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงจากบ้านแม่กลองคี นอกนั้นเป็นเด็กบ้านไกลจากบ้านแม่กลองใหญ่ รวมถึงหมู่บ้านในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ที่อยู่ติดชายแดน โดยต้องพักที่โรงเรียน มีครู 11 คน ด้านผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี และมีการจัดหลักสูตรภาษาเมียนมาร์ ต้อนรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โอกาสนี้ ทอดพระเนตรศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา 2 เมษายน 2558 เผยแพร่พระราชดำริที่พระราชทานผ่าน 8 โครงการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก และเยาวชนในถิ่นทุรกันดารให้ดีขึ้น อาทิ ด้านการศึกษา อาชีพ สหกรณ์รวมถึงด้านการเกษตร ซึ่งโรงเรียนได้จัดศูนย์เรียนรู้กิจกรรมเกษตรตามโครงการพระราชดำริ มีครู นักเรียน และชุมชน ตลอดจนหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนมีรายได้นำเข้ากองทุน และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชน และหน่วยงานทั้งใน และต่างประเทศเข้าไปศึกษาดูผลสำเร็จ พร้อมกันนี้ ยังทอดพระเนตรโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มียุวเกษตรดำเนินกิจกรรมปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูกาล และเลี้ยงสัตว์ จนประสบผล ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมงานยุวเกษตรโลก เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่จังหวัดชลบุรี ในการนี้ พระราชทานไก่ไข่ที่มีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และกรมปศุสัตว์ดำเนินการผลิต เพื่อพระราชทานแก่โรงเรียน และประชาชนในถิ่นทุรกันดาร รวมทั้งผู้ประสบภัย ตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2556 – เมษายน 2557 นอกจากนี้ โรงพยาบาลอุ้มผางได้ดำเนินงานสุขศาลาข้ามแดนบ้านก้อเชอในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ที่อยู่ติดชายแดน สนองพระราชดำริ มีการอบรมชาวกะเหรี่ยงเพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ทำการตรวจรักษาโรคมาลาเรีย และโรคประจำถิ่นในเบื้องต้นให้กับชาวเมียนมาร์ เพื่อมนุษยธรรม และป้องกันการแพร่ระบาด
ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม ทรงเปิด “อาคารพระราชทาน” จากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ด้วยมีพระราชประสงค์ให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษามากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมสนองพระราชดำริ พัฒนางานการจัดการเรียนการสอนด้วย โรงเรียนเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นถึงตอนปลาย มีนักเรียน 1,219 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่ใช้ภาษาพูดแบบถิ่นเหนือ นอกนั้นเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และม้ง ใช้ภาษาพูดของตน มีนักเรียนบ้านไกลต้องพักนอนประจำ 416 คน ครู 51 คน นับตั้งแต่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนเมื่อปี 2519 จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนได้พัฒนาขีดความสามารถรองรับนักเรียนได้มากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ ให้นักเรียนมีความรู้ ความสามารถในการศึกษาต่อจนจบ สามารถเลี้ยงตัวเอง และช่วยเหลือสังคมต่อไปได้ตามพระราชดำริ มีการดำเนินงานโครงการพ่อแม่อุปถัมภ์ จัดหาทุนเป็นค่าใช้จ่ายทางการศึกษาแก่นักเรียน อาทิ จากนักท่องเที่ยว และผู้มีจิตศรัทธา นอกจากนี้ ยังมีทุนพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้นักเรียนได้มีโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 – 2556 มีนักเรียนทุนพระราชทาน รวม 121 คน โรงเรียนยังดำเนินกิจกรรมเด่น อาทิโครงการธนาคารโรงเรียน เพื่อส่งเสริมนิสัยการเก็บออม มีนักเรียนดำเนินการ จนได้รับรางวัลดีเด่นระดับประเทศประจำปีนี้
- องค์กรสิทธิฯประสานเสียงร้องให้ปล่อยตัว14นักศึกษา หลังถูกขังเรือนจำ กลุ่มปชต.ใหม่แถลงสู้ต่อ
- “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ทรงเป็นประธาน ในพิธีไหว้ครูและพระราชทานเหรียญรางวัลการศึกษาแก่นักเรียนนายร้อยประจำปีการศึกษา
- “รมว.พลังงาน” จ่อขยับภาษีแอลพีจีภาคขนส่ง
- สหรัฐพร้อมช่วยชาติในอาเซียนรับภาระผู้อพยพ
- “ททท.”ชี้คนจีนแห่เที่ยวไทย-คาดปีนี้ไม่ต่ำกว่า 6ล้านคน