สถานการณ์ความมั่นคงเอเชียนปี2557(2)
สถานการณ์ความมั่นคงเอเชียนปี2557(2)
สถานการณ์ความมั่นคงเอเชียนปี2557(2) : มองมุมยุทธศาสตร์ โดยเรือรบ เมืองมั่น www.facebook.com/ruarob.muangman
เป็นปีที่เก้าติดต่อกันแล้วที่ช่วงปลายปีต่อต้นปี จะมีการนำเสนอบทความสี่ตอน วิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มของโลกในปีหน้า แบ่งออกเป็นภูมิภาคอาเซียน เอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป โดยบทความชิ้นนี้จะเป็นตอนที่สองโดยประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคงของเอเชียในปี 2557
การร้อยรัดเชื่อมต่อระหว่างเอเชียใต้ อาเซียนและเอเชียแปซิฟิก ที่กระชับเหนียวแน่นขึ้นทำให้ปรากฏการณ์วงโค้งอินโดแปซิฟิก เป็นสิ่งที่เริ่มพูดถึงกันกว้างขวางขึ้นหากมีการวาดบรรยายสภาวะแวดล้อมในภูมิภาคโดยรวม ทั้งนี้ต้องให้เครดิตของพัฒนาการที่รุ่งเรืองเทียบเคียงกันขึ้นมาของ อินเดีย และ จีน โดยเฉพาะด้านการทหารนั้น ปีที่ผ่านมาทั้งสองออกจะโดดเด่นมากทีเดียว แต่ขณะที่อินเดียดูเหมือนจะลดทอนปัญหาสงครามตามแบบในภูมิภาคลงไป จีนกลับเขม็งเกลียวสูงสุด โดยเฉพาะกับ ญี่ปุ่น และ สหรัฐ
ปีหน้า ปัญหาจีนกับสองชาติที่กล่าวมาน่าจะระอุยิ่งขึ้น เพราะญี่ปุ่นไม่แสดงท่าทีว่ากลัวจีนอีกต่อไป การขยายอิทธิพลทางทหารของจีนในละแวกแปซิฟิกก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ประเทศเพื่อนบ้านนานแล้ว กับญี่ปุ่นที่ดำเนินนโยบายมุ่งขวามากขึ้นก็ย่อมถือจีนเป็นอุปสรรคสำคัญด้วย ความตึงเครียดในน่านน้ำทับซ้อนของทะเลจีนตะวันออกน่าจะไม่น้อยหน้าทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ตาม หากไม่เกิดเหตุการณ์เฉพาะใดๆ เสียก่อน ปีนี้รัฐบาลโตเกียวและปักกิ่งน่าจะยังคงปรับท่าทีให้เกิดความสมดุลระหว่างยุทธศาสตร์ความมั่นคงเชิงรุกกับกระแสชาตินิยมในประเทศได้เป็นอย่างดี
ที่อยู่ในสถานะที่ล่อแหลมต่อการล้มครืนมากที่สุด ก็คือ เกาหลีเหนือ ของ คิม จอง อึน การตัดสินใจแบบคาดเดาไม่ได้ของเขาเป็นเงาทะมึนและน่ารำคาญค้ำเอเชียตะวันออกอยู่นานเกินไปแล้ว เขาต่างจาก คิม จอง อิล ผู้พ่อซึ่งแทบไม่มีข่าวความขัดแย้งภายในเล็ดลอดออกมาให้เราเห็น บางทีปี 2557 จะเป็นปีที่เกาหลีใต้ต้องลำบากกับอารมณ์ของจักรพรรดิเนโรแห่งคาบสมุทรเกาหลีน้อยไปอีกปี แต่ผู้ที่จะระงับความบ้าคลั่งของคิมก็ต้องเป็นคนในใกล้ชิดของเขาเอง
การกระชับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่าง อินเดีย กับ สหรัฐ ที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่โอกาสของสงครามขนาดใหญ่ในภูมิภาคแทบไม่มี ทำให้อินเดียมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ยังคงวิตกต่อภัยมืดด้านก่อการร้ายเช่นเดิม อินเดียยังเป็นแหล่งผู้ก่อการร้ายคลั่งศาสนาที่กำเนิดขึ้นในประเทศเอง พวกที่ล้นแดนทางตอนเหนือเข้ามาโจมตีในประเทศและกองโจรลัทธิเหมาในรัฐแถบตะวันออก
แต่ ปากีสถาน ยังน่าเป็นห่วงกว่า จากสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ อัฟกานิสถาน ที่ไม่ได้ลดทอนลงเลย สื่อนอกประเทศมักมองเห็นปัญหาจากโดรนและระเบิดฆ่าตัวตายรายวัน แต่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในของประเทศนี้ยังรุนแรง เช่นเดียวกับ บังกลาเทศ ซึ่งประเทศหลังมีโอกาสขัดแย้งกับ พม่า และต้องเครียดจากการรับมือความไม่สงบระหว่างศาสนามากขึ้นเนื่องจากปัญหาโรฮิงญา ที่ดูเหมือนจะก้าวขาตั้งหลักได้แล้วและพร้อมจะก้าวต่อไปสู่โลกกว้างก็คือ ศรีลังกา ที่ปลอดสงครามกลางเมืองและและรับเอาอิทธิพลด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงจากจีนเข้ามาแทนที่อินเดีย