บจ. แห่ระดมทุน “หุ้นไอพีโอ” ตลท. เผยหุ้นไทยถูกเลือกเข้า “เอ็มเอสซีไอ” สูงสุดในอาเซียน
ตลาดหุ้นปี 56 คึกคัก บจ. แห่ระดมทุน “หุ้นไอพีโอ” ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในกลุ่มบริการ อสังหาริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้าง “ชนิตร” ยอมรับการที่หุ้นไทยบางตัวถูกนำไปคำนวณในดัชนี “เอ็มเอสซีไอ” ช่วยจุดประกายให้บริษัทต่างๆ สนใจเข้าระดมทุนมากขึ้น โดยล่าสุด ถูกเลือกเพิ่มเติมเข้าไปอีก 20 หลักทรัพย์ ถือว่าสูงที่สุดในอาเซียน
นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ เปิดเผยว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้แนวโน้มบริษัทที่เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทย ผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังการประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต่างๆ ออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี รวมถึงเศรษฐกิจมีสภาพคล่องสูง รวมถึงการที่หุ้นไทยทั้งขนาดกลาง และขนาดใหญ่ถูกนำมาคำนวณในดัชนีเอ็มเอสซีไอเพิ่มขึ้นกว่า 20 หลักทรัพย์
“ขณะนี้การขอเข้าจดทะเบียนต่อ ตลท. มีจำนวนเฉลี่ย 5 บจ. ต่อเดือน ซึ่งคาดว่าในเดือน มิ.ย. จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 5 บจ. และจะมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างคงที่เช่นนี้ตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่เป็นบริษัทในกลุ่มบริการ อสังหาริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้าง โดยขณะนี้มีบริษัทที่อยู่ระหว่างการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่หุ้นไทยบางตัวถูกนำไปคำนวณในดัชนีเอ็มเอสซีไอ จึงจุดประกายให้บริษัทต่างๆ สนใจเข้าระดมทุนมากขึ้น”
นอกจากนี้ ล่าสุดมีการประกาศรายชื่อหุ้นไทยที่ใช้คำนวณดัชนีเอ็มเอสซีไอเพิ่มเติมถึง 20 หลักทรัพย์ ซึ่งมาจาก ตลท. จำนวนถึง 19 หลักทรัพย์ และเอ็มเอไอ 1 หลักทรัพย์ รวมมูลค่าตลาด 403,111 ล้านบาท (ณ วันที่ 15 พ.ค.56) และมีหลักทรัพย์ที่ถูกคัดออก 3 หลักทรัพย์ สำหรับหุ้นที่ถูกคัดออก โดยส่วนใหญ่จะเป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดเกินเกณฑ์คัดเลือกหุ้นของดัชนีเอ็มเอสซีไอ
อย่างไรก็ตาม จำนวนหลักทรัพย์ไทยที่ถูกเพิ่มเข้าคำนวณดังกล่าว นับว่าสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน คือ 20 หลักทรัพย์ โดยเป็นหุ้นไอพีโอ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถึง 7 หลักทรัพย์ แสดงให้เห็นว่า หุ้นไอพีโอเมื่อเข้าจดทะเบียนแล้ว มีการบริหารจัดการที่ดี ใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเหมาะสม มีศักยภาพ และสภาพคล่องเข้าเกณฑ์คำนวณในดัชนีระดับโลกได้ ทำให้แนวโน้มจำนวนหุ้นไทยที่เข้าคำนวณเอ็มเอสซีไออาจเพิ่มขึ้น
สำหรับการเก็บข้อมูลของมูลค่าตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เปรียบเทียบก่อนและหลังที่ถูกนำเข้าไปคำนวณดัชนีเอ็มเอสซีไอ รอบเดือน พ.ย.2555 แสดงให้เห็นว่าหลักทรัพย์ที่ได้นับเข้าไปคำนวณในดัชนีจะมีมูลค่าตลาด และมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สอดคล้องกับทิศทางผลการดำเนินงาน และสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศ และต่างประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ที่มา : http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrview.aspx?NewsID=9560000060285