มิติใหม่อาเซียน-ญี่ปุ่น

มิติใหม่อาเซียน-ญี่ปุ่น

มิติใหม่อาเซียน-ญี่ปุ่น : โลกสาระจิปาถะ โดยกวี จงกิจถาวร

             สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ญี่ปุ่นเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปีที่กรุงโตเกียว มีมิติใหม่น่าสนใจเกิดขึ้น มิตรภาพอาเซียนญี่ปุ่นนี้มีมานาน มีประเด็นทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ตั้งแต่นี้ต่อไปความร่วมมือทางด้านการเมืองและความมั่นคงจะมีมากขึ้น

             หลังจาก นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายหลักๆ ของญี่ปุ่นอย่างชัดเจนคือ ทางด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านการป้องกันและความมั่นคง

             สาเหตุหลักที่ญี่ปุ่นเลือกผู้นำคนนี้ เป็นเพราะว่าเขามีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เรียกว่า อาเบโนมิค เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจที่เฉื่อยชาของประเทศ หลังญี่ปุ่นประสบภัยวิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ ญี่ปุ่นพยายามถีบตัวเองขึ้นมาเพื่อแข่งกับจีน ซึ่งมีพลวัตการเติบโตเศรษฐกิจที่มากกว่า ที่ต่างออกไปจากรัฐบาลชุดก่อนๆ คือ อาเบะตอกย้ำเสมอว่า ญี่ปุ่นต้องเข้มแข็งและมีนโยบายป้องกันประเทศที่ดีกว่านี้

             ในอดีตญี่ปุ่นให้ความสนใจต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างเดียว ในฐานะครองแชมป์มหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับสองของโลกมาเป็นเวลานาน ได้ให้ความช่วยเหลือแต่ละประเทศในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยสงครามเย็นและอาเซียนยังเสริมร่างสร้างตัวอยู่

             เมื่อสามปีก่อน พลังเศรษฐกิจจีนได้เข้ามาแทนที่ญี่ปุ่น เนื่องจากความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่รวดเร็วของจีนนั่นเอง หลังจากนั้นสัมพันธ์จีนกับญี่ปุ่นเริ่มเลวร้ายลง เนื่องจากมีความบาดหมางในอดีต ที่ยังไม่สามารถแก้ไขหรือปรองดองกันได้

             ที่น่าสนใจคือ ในสมัยก่อนเวลาทั้งสองประเทศมีเรื่องข้อพิพาทพื้นที่ทะเล บริเวณเกาะเตียวหยู หรือเซนกากุ สองสามอาทิตย์ต่อมาเรื่องบาดหมางนี้จะค่อยๆ จางหายไป เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่อยากให้กระทบกระเทือนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ตอนนั้นจีนต้องพึ่งญี่ปุ่นอย่างมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินการลงทุนและเทคโนโลยี

             แต่มาในช่วงนี้เหตุการณ์ผันแปร มิตรภาพญี่ปุ่น-จีนเลวร้ายขึ้นทุกวันอย่างไม่น่าเชื่อ สองสามปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ท้าทายมิตรภาพหรือเพิ่มความเจ็บปวดให้แก่ทั้งสองฝ่ายอยู่ตลอดเวลา ส่วนหนึ่งคือ ทางจีนเห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นนายกรัฐมนตรีอาเบะกำลังเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นให้เป็นรัฐทหาร เหมือนกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มุ่งการพัฒนาการป้องกันประเทศ

             ส่วนทางญี่ปุ่นมีความเห็นว่า พอจีนร่ำรวย จีนกลับมีความมั่นใจและเพิ่มความก้าวร้าวขึ้นมาก ได้พยายามสร้างสมให้แก่จีนมาตลอด โดยเฉพาะหลังจากจีนประกาศนโยบายการปฏิรูปในปี 1978

             ญี่ปุ่นรู้สึกว่า พอจีนมีอำนาจเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ได้พยายามขยายเพิ่มขีดความสามารถทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศหรือบก นอกจากนั้นจีนยังมีการนำนโยบายเชิงรุกในเรื่องต่างๆ มาใช้ เมื่อปลายพฤศจิกายน จีนประกาศเขตน่านฟ้าเหนือเกาะเตียวหยู ซึ่งกำลังเป็นประเด็นพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่น การประกาศน่านฟ้าครั้งนี้ สร้างความปั่นป่วนให้แก่วงการทูต สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ออกมาประณามการกระทำของจีน และไม่ยอมรับ พร้อมกับส่งฝูงบินทดสอบความพร้อมเหนือเขตน่านฟ้าดังกล่าว

             จึงไม่แปลก ที่ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำญี่ปุ่น-อาเซียนมีเรื่องนี้เป็นประเด็นหลัก ฝ่ายนายกรัฐมนตรีอาเบะพยายามชักจูงให้ผู้นำอาเซียนคล้อยตามว่า การประกาศน่านฟ้าแบบนี้ของจีนจะมีผลกระทบกระเทือนการใช้เขตน่านฟ้าอย่างเสรี

             ฝ่ายผู้นำอาเซียนมีท่าทีชัดเจนคือ ไม่พร้อมจะสนับสนุนท่าทีญี่ปุ่นในเรื่องนี้ อย่างตรงไปตรงมา อาเซียนไม่ต้องการสร้างศัตรูกับจีน ยิ่งตอนนี้สัมพันธ์จีน-อาเซียนกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากประสบปัญหาในช่วงปี 2511 โชคดีที่ประธานอาเซียนจากบรูไน และไทยในฐานะประเทศประสานงานอาเซียน-จีน ได้ช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดี จนทำให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มการเจรจาข้อปฏิบัติที่มีผลทางกฎหมายในทะเลจีนใต้

             ถึงแม้นว่าอาเซียนไม่เห็นด้วยกับการประณามจีนแบบตรงๆ แต่อาเซียนก็รู้สึกและเข้าใจถึงความรู้สึกของญี่ปุ่นดี จึงยินยอมสนับสนุนแถลงการณ์ร่วมที่เจาะจงถึงความสำคัญของเสรีภาพและความปลอดภัยในการใช้น่านฟ้าสากล โดยไม่มีการเอ่ยถึงจีน

             ประเด็นนี้สำคัญ ตั้งแต่จีนประกาศเขตน่านฟ้าออกมา อาเซียนไม่มีท่าทีร่วมออกมา การยอมรับข้อความเกี่ยวโยงกับเสรีภาพของน่านฟ้า จึงเป็นท่าทีร่วมอาเซียนครั้งแรก ครั้งนี้อาเซียนยังได้นำเอาประเด็นนี้มาปะติดปะต่อกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ที่ต้องมีเสรีภาพในน่านน้ำและน่านฟ้าเช่นกันในทะเลจีนใต้ ลึกๆ อาเซียนกลัวว่าจีนจะประกาศเขตน่านฟ้าเหนือทะเลจีนใต้

             ในแถลงการณ์ร่วม อาเซียนยังให้การสนับสนุนนโยบายความมั่นคงของญี่ปุ่นของอาเบะ ถือว่าเป็นมิติใหม่ของสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น จึงไม่แปลก ประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม รวมทั้งเงินช่วยเหลือ ไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่

             อาเซียนเข้าใจดีถึงสถานการณ์ยุทธศาสตร์ในภูมิภาคในขณะนี้ว่า มีความพลิกผันตลอดเวลา ต้องรักษาตัวให้ดี ไม่เข้าข้างญี่ปุ่นหรือจีน

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

212

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน