เวียดนามเอาจริงสู่ประชาคมอาเซียน
เวียดนามเอาจริงสู่ประชาคมอาเซียน
เวียดนามเอาจริงสู่ประชาคมอาเซียน : โลกสาระจิปาถะ โดยกวี กิจถาวร
กรุงฮานอย-ในขณะที่ไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐบาลเวียดนามจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนและสามเสาหลักอาเซียนได้นัดกันมาเพื่อระดมสมองถกประเด็นสำคัญที่สุดคือ อนาคตอาเซียนหลังเข้าสู่ประชาคม 2015 กับบทบาทเวียดนามในอาเซียน รวมทั้งประเด็นต่างๆ ที่เวียดนามต้องการผลักดันในอนาคต
น่าแปลกใจมากที่รัฐบาลเวียดนามให้ความสนใจอาเซียนในช่วงนี้เป็นพิเศษ เท่าที่ติดตามข่าวคราวและได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่เวียดนามหลายคนในอาทิตย์ที่แล้ว พอจะสรุปได้สามประเด็นใหญ่ๆ
เรื่องแรก เวียดนามต้องการให้อาเซียนมีความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน เวียดนามมีความรู้สึกเหมือนกับโปแลนด์ที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรป ที่อยากเห็นองค์กรที่ตัวเองเป็นสมาชิกมีบทบาทสูง เวียดนามจึงมีความรู้สึกที่เป็นอาเซียนมากๆ ยึดถือหลักการต่างๆ ของอาเซียน จนสมาชิกอาเซียนเก่าๆ ต้องเคอะเขินไปเลย
ประเด็นที่สอง เวียดนามต้องการใช้อาเซียนเป็นเกราะป้องกันอธิปไตยของประเทศ เวียดนามรู้ดีถึงความสำคัญของอาเซียน เพราะในอดีตได้ใช้เวลากว่าสามทศวรรษต่อสู้กับอาเซียนในสมัยก่อนถือว่าเป็นศัตรูอันดับหนึ่งในช่วงสงครามอินโดจีนและสงครามกัมพูชา
จึงไม่แปลก เวียดนามเข้าใจดีถึงอำนาจการต่อรองของอาเซียนที่มีความสามัคคี ในช่วงสงครามกัมพูชาอาเซียนสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้ประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะในบริบทขององค์การสหประชาชาติ
ประเด็นสุดท้าย คือเวียดนามต้องการให้เศรษฐกิจของตนเองสามารถเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจให้ได้โดยเร็ว เนื่องจากมันผูกติดกับความมั่งคั่งของสังคมเวียดนาม ตราบใดที่เศรษฐกิจยังอยู่ในระดับที่ดี พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจะมีเสถียรภาพ ที่ผ่านมานั้นคนหนุ่มสาวเวียดนามมีการเรียกร้องให้รัฐบาลตอบรับข้อเสนอใหม่ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ให้สูงขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ฉะนั้นจะเห็นว่าเวียดนามไม่ได้มีการรณรงค์แบบไทยที่ออกมาประชาสัมพันธ์ในเรื่องเออีซี
ระยะนี้เวียดนามเปิดกว้างมาก เมื่อเร็วๆ นี้เวียดนามได้รับเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติด้วยคะแนนที่สูงที่สุด ทำให้เวียดนามภูมิใจ ในขณะเดียวกันผู้นำเริ่มรู้สึกว่ามีแรงกดดันมากขึ้นจากภายในและภายนอก
อีกไม่นาน เวียดนามจะจัดตั้งสำนักงานสิทธิมนุษยชนเหมือนกับสมาชิกอาเซียนในอีก 5 ประเทศคือ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และพม่า เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเจ้าหน้าที่ระดับสูงเวียดนามบอกกับผู้เขียนว่าการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจในพม่ามีผลทางบวกที่ทำให้ผู้นำเวียดนามต้องเปิดกว้างอย่างรวดเร็วมากขึ้น อย่าลืมว่าเวียดนามได้ตามรอยปฏิรูปเศรษฐกิจ 10 ปีหลังจากจีนได้เริ่มนโยบาย "สี่ทันสมัย" ในปี 1978
สอง-สามปีที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมในเวียดนามมีการพัฒนาไปรวดเร็วมากและก้าวหน้ามาก ในปัจจุบันมีกลุ่มประชาคมที่จดทะเบียนถึง 450 กลุ่ม เวียดนามยังเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ยอมรับสิทธิอันเท่าเทียมของกลุ่มเกย์เลสเบี้ยนและกลุ่มแปลงเพศ จนสร้างความประหลาดใจให้สมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่มีนโยบายอนุรักษนิยมในเรื่องนี้
นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มต่อสู้และป้องกันเพื่อสิทธิชนกลุ่มน้อย เวียดนามมีชนกลุ่มน้อยถึง 54 กลุ่ม นับว่าไม่น้อย อีกกลุ่มเอ็นจีโอหนึ่งที่มีผลงานออกมาให้เห็นคือกลุ่มพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เวียดนามเป็นประเทศที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในการสร้างเขื่อนในประเทศลาว
ถ้าเวียดนามมีการเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น บทบาทการเป็นผู้นำเวียดนามในบริบทอาเซียนจะดีขึ้น มีตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนในกรณีอินโดนีเซีย ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มีประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้อินโดนีเซียมีบทบาทนำในอาเซียนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการเมืองความมั่นคงในอาเซียน
เวียดนามที่มีบทบาทสูงในอาเซียน และสังคมประชาคมโลกที่ยอมรับ จะส่งผลดีต่อการป้องกันผลประโยชน์แห่งชาติเวียดนามในยุคสภาพยุทธศาสตร์ในโลกที่มีความลื่นไหล