'ป.ป.ช.'จัดประชุม 10 ประเทศอาเซียน
'ป.ป.ช.'จัดประชุม 10 ประเทศอาเซียน
'ป.ป.ช.'จัดประชุม 10 ประเทศอาเซียน หาแนวทางร่วมมือต้านคอร์รัปชั่น : คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ : ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช)ประเทศไทย โดย ป.ป.ช. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาของสถาบันการต่อต้านทุจริตนานาชาติ หรือ IACA Assembly ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยเชิญหัวหน้า หรือประธานหน่วยงานทางด้านต่อต้านการทุจริตของ 10 ประเทศอาเซียน ร่วมประชุมโต๊ะกลมเป็นกรณีพิเศษ หารือแนวทางกระชับความร่วมมือต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ภายใต้แนวทางที่ชัดเจน รองรับเออีซี ในปี 2015
ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า อาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่เออีซีในปี 2015 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เล็งเห็นว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้ความร่วมมือทางด้านการต่อต้านการทุจริตเข้าไปอยู่ภายใต้กรอบอาเซียนโดยตรง และจากการที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาของสถาบันต่อต้านทุจริตนานาชาติ หรือ IACA Assembly ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติอยู่แล้ว จึงจะถือโอกาสเชิญหัวหน้า หรือประธานหน่วยงานด้านต่อต้านการทุจริตของทั้ง 10 ประเทศอาเซียน มาร่วมประชุมโต๊ะกลมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อหารือถึงแนวทางกระชับความร่วมมือและแนวทางในการพัฒนากลไกความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน เพื่อเตรียมรองรับเออีซี ในปี 2015
“การที่ประเทศไทย โดย ป.ป.ช. ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติลักษณะนี้ เป็นประโยชน์โดยตรงกับการที่จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสได้รับการยอมรับในระดับสากลมากขึ้นจากการแสดงความสนใจและให้การสนับสนุนความร่วมมือ เพื่อต่อต้านปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นระหว่างประเทศ อย่างเช่นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไทยก็ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติต่อต้านการทุจริต IACC (International Anti-Corruption Conference) ครั้งที่ 14 มาแล้ว สำหรับ IACA หรือสถาบันว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตสากล เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ มีฐานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ มีที่ตั้งอยู่ที่ออสเตรีย เป็นสถาบันเน้นเรื่องการศึกษา การฝึกอบรม การเพิ่มขีดสมรรถนะบุคลากรที่ทำงานต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ และการพัฒนาเครือข่ายในการต่อต้านการทุจริต เป็นองค์กรสำคัญองค์กรหนึ่ง โดยเฉพาะในการพัฒนาคน ผมเองรู้สึกเป็นเกียรติยิ่งที่ได้รับคัดเลือกให้ไปเป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร BOG (Board Of Governors) ของสถาบันแห่งนี้ด้วย”
กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวอีกว่า เมื่อการประชุมสมัชชาครั้งแรกที่กรุงเวียนนา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ ให้เป็นรองประธานสมัชชา สำหรับประชุมครั้งนี้จะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการสมัชชาชุดใหม่เพื่อรับหน้าที่ต่อไปในอีก 1 ปีข้างหน้า ในส่วนของการเตรียมการประชุมมีความพร้อมแล้วในทุกๆ ด้าน
นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังได้เข้าร่วมการประชุมเป็นประจำในเวทีต่างๆ ในระดับภูมิภาค เช่น การประชุมภายใต้กรอบของ APEC ACTWG (Anti-corruption and Transparency Working Group) เป็นคณะทำงานด้านการต่อต้านการทุจริตและการสร้างความโปร่งใส ภายใต้กรอบเอเปกและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่อต้านการทุจริตของ 10 ประเทศในอาเซียน เรียกว่า SEA-PAC (The Southeast Asia Parties Against Corruption) ที่เริ่มมาประมาณ 3-4 ปีแล้ว แต่ยังไม่เป็นกลไกภายใต้กรอบอาเซียนโดยตรง ทั้งนี้ ป.ป.ช.กำลังมีความพยายามที่จะผลักดันให้การต่อต้านการทุจริตเชื่อมโยงเข้ากับโครงสร้างของอาเซียนเพื่อที่จะได้รับการสนับสนุนในระดับฝ่ายรัฐบาลอันถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น
ศ.ดร.ภักดี ยังพูดถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นว่า มีลักษณะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติประเภทหนึ่งตามการกำหนดของสหประชาชาติและมีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) เป็นกลไกหลักของความร่วมมือระดับสากล ประเทศไทยให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีตั้งแต่มีนาคม 2554 โดยเล็งเห็นความสำคัญของการที่จะต้องมีกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะทำให้สามารถนำตัวผู้กระทำผิดที่หนีไปต่างประเทศมาลงโทษ หรือสามารถติดตามทรัพย์สินที่ถูกยักย้ายถ่ายโอนไปไว้ในต่างประเทศกลับคืนมาได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วไปไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ของแต่ละประเทศสามารถขอความร่วมมือระหว่างกันเพื่อติดตามตัวคนทำผิดส่งกลับมารับโทษ หรือติดตามเรียกทรัพย์สินคืนได้ นี่คือจุดสำคัญ เป็นลักษณะความร่วมมือที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย
อีกลักษณะหนึ่ง คือ เป็นความร่วมมือทางวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะนำมาดำเนินการป้องกันปราบปรามการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือการพัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะ รู้เท่าทันปัญหาการทุจริตที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือทางวิชาการเหล่านี้ ซึ่งเป็นอีกลักษณะหนึ่งที่ทำให้ความร่วมมือระหว่างกันเกิดประโยชน์มาก
“ในฐานะที่ ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และก็มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดกรอบอำนาจหน้าที่ไว้ชัดเจน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระบุว่า ป.ป.ช.เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการในส่วนนี้ตามมาตรา 19 (14) ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ยึดถือปฏิบัติตามกรอบดังกล่าว”
ประการแรก คือ ป.ป.ช.เข้าไปดำเนินการในส่วนที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต หรือ UNCAC (United Nations Convention Against Corruption) รวมทั้งได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ของการประชุมคณะทำงานตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนระว่างประเทศของ OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัญหาของการให้และรับสินบนข้ามชาตินี้เกี่ยวข้องกับการที่ภาคเอกชนของประเทศหนึ่งให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศอื่น เพื่อหวังประโยชน์ในทางการค้าเช่นกรณีของการค้าขายอาวุธ หรือกรณีที่เกี่ยวกับประเทศไทยก็คือคดีรถและเรือดับเพลิงเป็นต้น
การที่ประเทศไทยเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญา UNCAC นั้น ก่อให้เกิดข้อผูกพันทางกฎหมายและเรามีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามอนุสัญญา แต่ขณะนี้ยังมีข้อจำกัด คือ กฎหมายภายในของไทยยังไม่มีการแก้ไขอย่างทันท่วงที ถึงเวลาจะผ่านมาเกือบ 10 ปีหลังการลงนามในอนุสัญญาเมื่อ พ.ศ.2546 และมาให้สัตยาบันเมื่อปี 2554 แล้วก็ตามอันมีผลให้การดำเนินความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ภายใต้กรอบอนุสัญญา มีข้อจำกัด เพราะหลายๆ เรื่องจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ
นอกจากความร่วมมือแบบพหุภาคี ภายใต้กรอบอนุสัญญา เรายังมีความร่วมมือในระดับทวิภาคี อันหมายถึงการที่ ป.ป.ช. ของเราไปตกลงร่วมมือกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทำนองเดียวกับเราของต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญา UNCAC ด้วยกันมากว่า 10 ประเทศที่ไปลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกันไว้ในแถบทุกภูมิภาคทั่วโลก ทำให้เกิดการยอมรับในระดับสากลถึงการดำเนินความพยายามของประเทศไทยที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น
“ที่ผ่านมา ป.ป.ช.จะไม่ค่อยได้รับความร่วมมือมากนักจากทางฝ่ายการเมือง เป็นเรื่องของการขาดเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของฝ่ายทางการเมือง (Political will) ที่จะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น จะเห็นได้จากการสะท้อนกรณีของดัชนี CPI ซึ่งล่าสุดประเทศไทยได้คะแนนไม่สูงนัก แค่ 35 จาก 100 คะแนน โดยหากลองไปวิเคราะห์ดูจะเห็นได้ว่าในจำนวนฐานคะแนน 8 ฐานที่นำมาหาค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะที่มีการสำรวจเกี่ยวกับมาตรการเอาผิดผู้กระทำผิดจริงจังแค่ไหน เราได้คะแนนค่อนข้างสูง ประมาณ 40 คะแนน แต่ตัวที่ต่ำคือฐานที่เกี่ยวกับเรื่องของเสถียรภาพทางการเมือง และการที่นักการเมืองเข้าไปใช้อิทธิพลครอบงำข้าราชการประจำ หรือมีการบริหารงบประมาณอย่างไม่โปร่งใส เรื่องเหล่านี้เราได้คะแนนต่ำเพียงประมาณ 30 พอเฉลี่ยมาแล้วก็ได้ 35 ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพอจะมองเห็นได้ว่าปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอยู่ตรงไหน”
การที่จะทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นลดน้อยลง ต้องสร้างความตระหนักและจิตสำนึกในผู้คนที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนของสังคมก่อน ที่สำคัญต้องรวมพลังของทุกภาคส่วนมาช่วยกันแก้ปัญหา เริ่มตั้งแต่เด็กขึ้นมาเลย เพราะเด็กและเยาวชนจะเป็นอนาคตของชาติ ต้องปลูกฝังจิตสำนึกให้เขารังเกียจการทุจริต สร้างให้เขามีคุณธรรม จริยธรรม เน้นความซื่อสัตย์สุจริต และจิตอาสา ขณะเดียวกัน การปลูกฝังในผู้ใหญ่ทำได้ยากก็ต้องกำหนดกรอบให้เดิน เน้นในเรื่องบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล ปฏิบัติอยู่ในกรอบแนวทางประมวลจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ให้ความสำคัญอย่างมาก
“ป.ป.ช.ขออาศัยพลังประชาชนให้ตระหนักถึงพิษภัยของการคอร์รัปชั่น มีส่วนร่วมช่วยเฝ้าระวัง เป็นผู้ให้เบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกระดับ ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ให้เบาะแสและพยานแล้ว และร่วมเป็นเครือข่ายช่วยกันดูแลปัญหาที่กว้างออกไปอีก คงต้องฝากความหวังไว้กับคนไทยทุกคน ทุกอย่าง เริ่มที่ตัวเรา ถ้าหากทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหาเรื่องนี้และเข้ามาร่วมแก้ไข ผมคิดว่าประเทศไทยไปรอด”
..........................
('ป.ป.ช.'จัดประชุม 10 ประเทศอาเซียน หาแนวทางร่วมมือต้านคอร์รัปชั่น : คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ : ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) )