การพัฒนาความร่วมมือเกษตรไทย-จีน
การพัฒนาความร่วมมือเกษตรไทย-จีน
แนวทางพัฒนาด้านการเกษตรไทย-จีน หาทางเนรมิตไทยศูนย์กลางในเออีซี : ภาวดี ชุปวา / จุฬาลักษณ์ อำนาจสมบูรณ์ ... รายงาน
หลังจากไทยได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการค้าเสรีสินค้าผักและผลไม้ โดยมีสาระความสำคัญครอบคลุมเรื่องการลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ทุกรายการ ตามพิกัดศุลกากรตอนที่ 07-08 จำนวน 116 รายการ ให้เหลือ 0% มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 ทำให้การค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย-จีนมีความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง จะเห็นได้จากปัจจุบันไทยส่งออกยางพาราไปยังประเทศจีนถึง 75% เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นพืชผักผลไม้ จำพวกลำไย ทุเรียน มังคุด กล้วย มันสำปะหลัง ซึ่งจีนนั้นเป็นตลาดหลักของไทย และไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากจีนไม่ว่าจะเป็นพืชผักผลไม้เมืองหนาว อาทิ แอปเปิ้ล สาลี่ แพร์ และควินซ์ แครอท เห็ด และมันฝรั่ง จำนวนมหาศาลเช่นกัน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้หารือกับ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงที่นายกรัฐมนตรีของจีนมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2556 เพื่อหารือแนวทางในการขยายการค้าสินค้าเกษตรจากไทยไปยังประเทศจีน ส่งเสริมการลงทุนเปิดโรงงานแปรรูปยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม เป็นต้น นั่นยอมแสดงให้เห็นว่าอนาคตไทยกับจีนจะต้องมีการพัฒนาด้านการค้า การลงทุนภาคการเกษตรมากขึ้นอย่างแน่นอน
บนเวทีสัมมนาหัวข้อ "ทิศทางการพัฒนาด้านการเกษตรไทย-จีน" จัดโดยสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมการค้าอาเซียน ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี มีวิทยากรทั้งที่เป็นตัวแทนจากประเทศจีนและไทยต่างแสดงความเห็นออกมาในลักษณะคล้ายกันว่า ทั้งไทยและจีนเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีการค้าระหว่างกันมายาวนาน จำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยและจีนต้องมีการพัฒนาภาคการเกษตรร่วมกัน
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในฐานะประธานเปิดงานและร่วมเสวนาด้วย ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคการเกษตรไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการผลิต เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยว เพื่อส่งออก จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรมีมูลค่ามหาศาล ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย น้ำตาล พืชผัก ผลไม้ อาหารทะเลแช่แข็ง ไก่ เป็นต้น เฉพาะในอาเซียนไทยที่ครองความเป็นหนึ่ง อาทิ พืชไร่ สาขาปศุสัตว์ และสาขาประมง หากดูในภาพรวมแล้วภาคการเกษตรของไทยนำหน้าประเทศอื่นในอาเซียนด้วยกัน
"ตอนนี้ด้านปศุสัตว์ของเราไม่มีข้อเสียเปรียบ ปัจจุบันวัว ควาย กำลังจะหมดประเทศ เพราะเวียดนามและจีนมีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเปิดเสรีอาเซียน เรายิ่งได้เปรียบด้านนี้เพราะเราสามารถผลิตได้เยอะ ไทยสามารถควบคุมตลาดได้ ทั้ง โค ไก่ แพะ และหมู เพราะไทยได้เปรียบทั้งด้านพันธุกรรม และเทคโนโลยีที่ก้าวทันต่อโลก ขณะเดียวกันไทยก็มีวัตถุดิบจำนวนมากที่ทางจีนสามารถมาลงทุน หรือทำการค้าในไทยได้ในอนาคต" นายประพัฒน์ กล่าว
ด้าน นายวู กัวดิง นายกเทศมนตรีเมืองจูมาเตียน มณฑลเหอนาน กล่าวว่า ประเทศจีนมีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีการเกษตร โดยเฉพาะในมณฑลเหอหนาน ถือเป็นศูนย์กลางของประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันมณฑลเหอหนานมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้จีดีพีภาพรวมติดอันดับ 5 ของประเทศ โดยเฉพาะด้านการเกษตรมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีผลผลิตนับแสนล้านตัน อาทิ ข้าวสาลี อยู่ที่อันดับ 1 พืชน้ำมัน ข้าวโพด อยู่ที่อันดับ 3 มีผู้ประกอบการที่แปรรูสินค้าเกษตรกว่า 6,700 บริษัท สร้างมูลค่ากว่า 1 แสนล้านหยวน ส่งผลให้มีประเทศต่างๆ ทั่วโลกสนใจไปลงทุนถึง 23 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีบริษัทในเครือของเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บริษัท เจียไต๋ จำกัด เป็นต้น
ขณะที่ ศ.บิ ซื่อฮง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยยูนนาน กล่าวว่า ไทยและจีนถือเป็นแชมป์ด้านการเกษตรในเอเชียตะวันออก ต่อไปไทยกับจีนต้องมีการลงนามร่วมมือการค้าเพื่อจะบรรลุ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 5 ปี โดยจีนจะเอาข้าวจากไทย 1 ล้านตันรวมถึงการสนับสนุนสินค้าเกษตรจากไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่ไทยและจีนจะมีการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน อีกทั้งในอนาคต ไทย-จีนจะมีการซื้อขายสินค้าคิดภาษีเป็น 0% ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน ที่สำคัญจีนนั้นมีกำลังซื้อถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จึงอยากให้ผู้ประกอบการจากไทยไปลงทุนในประเทศจีนที่มีแรงงานพร้อม และราคาถูกกว่าแรงงานของกลุ่มประเทศอาเซียนเก่า 6 ประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนด้านธัญพืชที่จีนมีความต้องการสูง
แนวทางการพัฒนาและความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทย-จีน ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง เนื่องจากไทยเป็นประเทศกสิกรรม ฉะนั้นไทยต้องเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าเกษตรในตลาดเออีซีในอนาคต
-----------------------
มั่นใจสินค้าเกษตรไทยปลอดสารพิษ
นายพิศาล พงศาพิชณ์ ผู้อำนวยการสำนักกำหนดมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมีข่าวว่าสินค้าเกษตรไทยที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ มักพบการปนเปื้อนสารเคมีนั้น เกิดมาจากสารเคมีที่ใช้ในเพาะปลูกพืช ยาของสัตว์ และวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ในการผลิต แปรรูปอาหารในโรงงาน และอีกอันคือการปนเปื้อนแบบไม่ได้ตั้งใจ อาจจะเป็นดิน น้ำ เช่นโลหะหนัก เป็นต้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันไทยมีการขึ้นทะเบียนอนุญาตใช้สารเคมีอยู่ (วัตถุอันตราย)
"ทุกวันนี้ประเทศไทยได้เน้นในเรื่องของการส่งออกและนำเข้า ต้องปลอดจากสารตกค้าง เพราะมีสำนักงานสินค้าเกษตร หรือ มคอช.มาตรวจสอบและคอยประสานดูแลมาตรฐานทั้งการส่งออกและการนำเข้ามาตลอด และมีหน่วยงานรับรองให้ผลิตตามมาตรฐานแก็บ หรือจีเอพี ที่สามารถตรวจสอบแหล่งการผลิตได้ มีความปลอดภัยต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เพราะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งเน้นผลผลิตที่มีความปลอดภัย เรามองยุทธศาสตร์เป็น 5 ส่วน ส่วนแรกคือ ปัจจัยการผลิตที่นำเข้ามาให้ในฟาร์ม ควบคุมดูแลให้มั่นใจมีการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง ส่วนที่สอง ฟาร์มเน้นที่มาตรฐานจีเอพี ส่วนโรงงานต้องโรงงานที่ที่ได้รับรองจีเอ็มพี ขณะที่สินค้าและผลิตภัณฑ์ต้องรับรองก่อนที่จะส่งออกเช่น" นายพิศาล กล่าว
-----------------------
(แนวทางพัฒนาด้านการเกษตรไทย-จีน หาทางเนรมิตไทยศูนย์กลางในเออีซี : ภาวดี ชุปวา / จุฬาลักษณ์ อำนาจสมบูรณ์ ... รายงาน)