พม่ากับบทบาทประธานอาเซียน

พม่ากับบทบาทประธานอาเซียน

พม่ากับบทบาทประธานอาเซียน : โลกสาระจิปาถะ โดยกวี จงกิจถาวร

            กรุงเนปิดอว์-ในเรื่องเศรษฐกิจ ประธานอาเซียนใหม่พม่ามีจุดประสงค์จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิกใหม่ โดยเฉพาะกับ ลาว และกัมพูชาในสองประเด็นคือการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจในภูมิภาคที่รวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออก อีกประเด็นหนึ่งคือการพัฒนาอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีและองค์กรที่เกี่ยวข้อง

            ขณะนี้ ข้าราชการในกระทรวงต่างๆ กำลังเตรียมการอย่างขยันขันแข็ง เพื่อรับมือการเป็นประธานอาเซียน การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสทางการเมืองและเศรษฐกิจจะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนมกราคม เพื่อจัดวาระการประชุมในตลอดทั้งปี ประธานพม่าคาดว่าจะมีการประชุมเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 350 กว่าครั้ง ในปีนี้ ประธานบรูไนเข้าร่วมประชุมอย่างน้อยเกือบ 1,100 ครั้ง

            การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งต่อไปจะจัดเร็วขึ้น มิฉะนั้นจะติดวันสงกรานต์ปีใหม่พม่า ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศบอกว่าการประชุมซัมมิตอาจจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม เร็วกว่าหมายกำหนดเดิม

            พม่าพยายามจัดวาระที่จะช่วยสนับสนุนสมาชิกใหม่ เป็นประเด็นดีมาก เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่างๆ สมาชิกใหม่ไม่สามารถตามทันประเทศสมาชิกอาเซียนหลัก จึงไม่แปลก พม่าเลยถือโอกาสนี้เข้ามาช่วย โดยเฉพาะด้านความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและการให้สิทธิพิเศษต่อสามประเทศนี้ในกรอบของอาร์ซีอีพี (Regional Comprehensive Economic Partnership) ส่วนเวียดนามที่เคยอยู่ในกลุ่มนี้ได้พัฒนาเกินหน้าไป ออกจากกลุ่มซีแอลเอ็มวี (Cambodia-Lao-Myanmar-Vietnam: CLMV) เรียบร้อยแล้ว

            ในระยะนี้ พม่าเนื้อหอมมาก การปฏิรูปเศรษฐกิจพม่าได้รับความสนใจจากทั่วโลก นักลงทุนทั้งใหญ่เล็กได้หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย สำนักงานเจโทรที่นี่เปิดเผยกับผู้เขียนว่า ในแต่ละเดือนมีนักธุรกิจญี่ปุ่นอย่างน้อยๆ 500 กว่าคนแวะมาที่ออฟฟิศ เพื่อสอบถามข้อมูลการลงทุนในพม่า เท่าที่ทราบ การลงทุนจริงๆ ส่วนใหญ่จำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ การลงทุนทางด้านเกษตรกรรม ธุรกิจท่องเที่ยวยังน้อยมาก

            ที่น่าสนใจคือ มหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ยอมรับในความสามารถในการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองพม่า วันศุกร์ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นสถาบันไทยล่าสุดที่ได้มอบปริญญานี้ให้แก่ผู้นำพม่า อีกไม่นาน มีความเป็นไปได้มาก ผู้นำพม่าอาจจะมาประเทศไทยเพื่อบรรยายการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้คนไทยฟัง ผู้เขียนจำได้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตให้แก่นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านตอนที่เธอยังถูกขังบริเวณ แต่ปรากฎว่าหลังจากที่เธอมีอิสรภาพ ไม่มีการติดตามต่อ ที่น่าแปลกใจไม่มีสถาบันศึกษาไทยในตอนนี้สนใจในตัวเธอมากเหมือนสมัยก่อน

            ประธานอาเซียนพม่าจะต่างออกจากกัมพูชาหรือบรูไน เนื่องจากพม่าต้องการใช้ตำแหน่งนี้ เพิ่มความชอบธรรมและเพิ่มบทบาทในเวทีภูมิภาค อย่าลืมว่ารัฐบาลพม่ามีการเปลี่ยนแปลงเพียงสองปีที่ผ่านมาเท่านั้น ต้องยอมรับว่าพม่าได้รับคะแนนสูงมากในการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง ถึงแม้นว่ายังมีปัญหารากเหง้าอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการปรองดองกับชนกลุ่มน้อย ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง เชื่อว่าสัญญายุติการสู้รบจะสำเร็จภายในเดือนสองเดือนข้างหน้า

            เวลาอยู่พม่าแล้วหันมาดูไทย รู้สึกว่าเราเสียเวลาที่มีค่า ที่ได้ผ่านมาเป็นเวลา 50 กว่าปี โดยไม่มีคู่แข่ง ขณะนี้ทุกประเทศในอาเซียนมีโอกาสเท่ากันหมด ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มีการกีดกันทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยได้รับสิทธิพิเศษมาตลอด คือไม่ได้เป็นปัญหา

            ต้องจับตาดู ในช่วงสิบสองเดือนข้างหน้าว่า ประธานพม่าจะหยิบเรื่องเศรษฐกิจประเด็นอะไรขึ้นเป็นพิเศษ  นอกจากเรื่องที่เล่าให้ฟังในข้างต้น

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

183

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน