มหกรรมบันเทิงศิลป์อาเซียน
มหกรรมบันเทิงศิลป์อาเซียน
ศิลปวัฒนธรรม : มหกรรมบันเทิง ศิลป์อาเซียน
ระยะทางของการประสานมือก้าวสู่ประชาคมอาเซียนร่นเข้ามาทุกที ทว่าพื้นที่ในการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในหมู่เพื่อนบ้านกลับยังคงทิ้งระยะห่าง เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยน เรียนรู้ให้กับหน่วยงานทางศิลปวัฒนธรรม ศิลปิน และประชาชนทั่วไป อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้ การมีส่วนร่วมในการก้าวสู่การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในด้านประชาคมและวัฒนธรรม ตามแนวคิด "เลิกแข่งขัน เริ่มแบ่งปัน" หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จึงอาสาเป็นเจ้าภาพจัด "เทศกาลศิลปวัฒนธรรมอาเซียน กรุงเทพฯ (BAAF)" ป่าวประกาศแต่หัววันว่างานนี้มีแต่ความรื่นเริงโดยไม่มีแบ่งแยกเชื้อชาติและสีผิว
พ่องานคนสำคัญ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานมูลนิธิหอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เผยความตั้งใจในวันแถลงข่าวว่า เทศกาลของคนทุกชนชั้นที่รักงาศิลป์นี้ เกิดขึ้นภาพใต้พันธกิจหลัก คือ การสร้างความเข้มแข็งระหว่างเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรม อาทิ หอศิลป์ หน่วยงานหรือสถาบันทางศิลปวัฒนธรรม และกลุ่มคนทำงานศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยน และระดมความคิดเห็นด้านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมอาเซียน การจัดกิจกรรมการศึกษา การแสดง นิทรรศการ และรวบรวมกิจกรรมด้านศิลปะทุกเครือข่าย และสร้างเป็นแผนที่กิจกรรมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสามารถร่วมกันต่อยอดองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมอาเซียน เตรียมรับการเชื่อมต่อกับนานาประเทศ พร้อมก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558
งานใหญ่เพื่อทุกคนในอาเซียน ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผอ.หอศิลปวัฒนธรรมฯ แจกแจงนานากิจกรรมที่จะเกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายนร่ายยาวไปจนถึงมีนาคมปีหน้าว่า จริงๆ แล้วเทศกาลนี้เริ่มตั้งแต่กลางปีเป็นต้นมา มีการจัดกิจกรรมทำความรู้จักประเทศในอาเซียน การเสวนาด้านศิลปวัฒนธรรม การพูดคุยผ่านดนตรี วรรณกรรม รวมถึงจัดฉายหนังทุกวันพฤหัสบดีที่หอศิลปวัฒนธรรมฯ โดยเฉพาะไฮไลท์ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม เป็นกิจกรรมร่วม "เปิดรับ-แบ่งปัน" ไปกับเทศกาล "อาเซียน ไนท์ : อาเซียน บียอน ฟรอนเทียร์" บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมฯ ท่ามกลางบรรยากาศฉายหนังกลางแปลง และกิจกรรมด้านวัฒนธรรมมากมาย
"เรามองว่าตัวศิลปะที่เรามีร่วมกันและเป็นสากลคือ ภาพยนตร์ ไม่เฉพาะวัยรุ่นที่สนใจแต่รวมถึงครอบครัวและชุมชนโดยรอบด้วย ลักษณะงานเหมือนกึ่งงานวัดอาเซียน มีการโชว์ศิลปะต่างๆ สาธิตการทำว่าวของแต่ละชาติในอาเซียน ละครหุ่นสาย มีบูธอาหารจากสถานทูตต่างๆ ในอาเซียน จะเป็นโอกสาสได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ใน่สวนของการแสดงดนตรีก็น่าสนใจไม่น้อย อย่าง วงเบบี้ อาราเบีย โดยกลุ่มเด็กหนุ่มย่านอ่อนนุชนำโดย เก๊ะ, กื้อ และ อิมรอน เดิมเป็นวงแบบนาเซบ เน้นเครื่องเคาะ และร้องภาษาอาหรับ ทุกวันนี้เล่นเพลงป๊อปคลาสสิก เคยไปทำการแสดงที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว
วงเดอะ พาราไดซ์ แบงค็อก หมอลำ อินเตอร์เนชั่นแนล แบนด์ ของนักดนตรีรุ่นใหม่และเก่ามืออาชีพที่เรียบเรียงและเล่นเพลง "หมอลำ" หรือจะเป็น "ดีเจ มาฟท์ ไซ " ร่วมสมัยที่จะมามิกซ์เพลงจังหวะสนุกๆ ให้ได้โยกหัวตาม ขณะที่ภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่จะฉาย อาทิ เดอะ เรนโบว์ ทรูพส์ หรือ "นักรบสายรุ้ง" หนังที่สร้างจากหนังสือที่ขายดีที่สุดตลอดกาลของดินโดนีเซีย "จันทะลี" ของลาว หนังผีที่มีความเปานสากล คือใช้ภาษาภาพยนตร์ในการสื่อสารแทนบทสนทนา ปะทะหนังผี 1,000 ล้านของไทยอย่าง "พี่มากพระโขนง" ที่หลายคนยังคงประทับใจในความฮาปนซึ้งมาแล้ว เป็นต้น" แม่งาน ให้รายละเอียด
ย้ายเข้ามาภายในหอศิลป์ มีนิทรรศการกระแทกความสนใจชื่อยาวๆ "มโนทัศน์ บริบท การต่อต้าน : ศิลปะและส่วนรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ว่าด้วยนิทรรศการใหม่เกี่ยวกับแนวทางการทำงานศิลปะที่ใช้มโนทัศน์เป็นหลัก เพื่อส่วนรวม และเน้นส่วนรวม รวมถึงประเด็นร่วมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พลาดไม่ได้คือ ผลงานศิลปะร่วม 50 ชิ้นจากกว่า 40 ศิลปินที่มีชื่อเสียงจาก 8 ประเทศ อาทิ สุธี คุณาวิชยานนท์ วสันต์ สิทธิเขตต์ และมานิต ศรีวานิชภูมิ จากไทย, เอฟเอ็กซ์ ฮาร์โซโน เอโค นูโกรโฮ และโปโปค ไตร-วายุทธ์ จากอินโดนีเซีย, อมันดา เฮง ลี เวน จากสิงคโปร์, ซิมริน จิล วอง ฮอย ซอง จากมาเลเซีย พร้อมศิลปินชั้นนำจากพม่าและกัมพูชา เป็นต้น
นิทรรศการนำเสนอทุกรูปแบบ รวมถึงแบบอินเตอร์แอ็กทีฟเพื่อเน้นการมีส่วนร่วมของคนดู ดังนั้น ในการชมคนดูจะได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง ยิ่งดูมาก ยิ่งทำให้เข้าใจได้ดีว่า ศิลปะมีความสัมพันธ์กับชีวิตผู้คนในภูมิภาคนี้อย่างไร ทั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.bacc.or.th