จริงไหมครับ?

จริงไหมครับ?

จริงไหมครับ? : วันเว้นวันจันทร์ พุธ ศุกร์กับประภัสสร เสวิกุล

              มีคนเคยกล่าวว่า ประเทศไทยของเรานั้นตั้งอยู่ในทำเลที่ดี ทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการเป็นศูนย์กลางของการคมนาคม หรือเส้นทางติดต่อกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากความอุดมสมบูรณ์ และภูมิประเทศที่มีสภาพเหมาะแก่การเพาะปลูก รวมทั้งไม่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านล้วนมีปัญหาและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป

              เริ่มด้วยอินโดนีเซียที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคนี้ ปัญหาที่สำคัญของอินโดนีเซียได้แก่ความหลากหลายของกลุ่มชนที่ประกอบกันเป็นประเทศ ทั้งในด้านชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ประกอบกับสภาพของภูมิประเทศที่เป็นเกาะใหญ่น้อย ทำให้เกิดช่องว่างของการติดต่อระหว่างกัน นอกจากนี้อินโดนีเซียเองก็มีปัญหาในเรื่องความยากจน การกระจายรายได้ และความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอินโดนีเซียสามารถคลี่คลายปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงที่เคยมีอยู่ลงไปได้มาก เหลือเพียงปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่นภูเขาไฟ และไฟป่า ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล

              ฟิลิปปินส์มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับอินโดนีเซียคือเป็นหมู่เกาะจำนวนมาก และมีปัญหาในด้านการติดต่อระหว่างเกาะต่างๆ ในอดีตฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมากในย่านนี้ แต่ระยะหลังฟิลิปปินส์ประสบภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ทำให้ลดสถานะและบทบาทลงตามลำดับ นอกจากนี้ยังเผชิญกับภัยธรรมชาติ เช่นมรสุม และพายุโซนร้อนอยู่เป็นประจำ

              เวียดนาม กัมพูชา และลาว ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศจากฝรั่งเศส และต่อต้านการรุกรานของสหรัฐในช่วงสงครามเย็น ติดต่อกันเป็นเวลาร่วม 30 ปี ติดตามด้วยสงครามกลางเมืองในกัมพูชา ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างล่าช้า แต่เมื่อสามารถจัดการกับปัญหาภายในประเทศเป็นที่เรียบร้อย และดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีขณะที่ยังคงปกครองประเทศด้วยระบบสังคมนิยม ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เงินทุนจากต่างประเทศจำนวนมากหลั่งไหลสู่เวียดนาม กัมพูชา และลาว

              สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีข้อจำกัดมากที่สุดทั้งเรื่องพื้นที่ของประเทศ ทรัพยากร และจำนวนประชากร แต่สิงคโปร์ก็ก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าว ด้วยการพัฒนาคุณภาพของประชากร และสังคม ทำธุรกิจการค้าที่ไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ แรงงาน และพลังงาน ดังเช่น การเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า กิจการขนส่งทางทะเล ศูนย์กลางการเงินการธนาคาร ศูนย์กลางการโทรคมนาคม และศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศ เป็นต้น ซึ่งทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และเป็นต้นแบบของหลายๆ ประเทศ

              พม่าเองก็มีปัญหาเรื่องการบริหารประเทศ และชนกลุ่มน้อย มาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี รวมทั้งถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประชาคมโลก เนื่องจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ทันทีที่พม่าแก้ไขปัญหาที่เป็นข้อจำกัดของตนได้สำเร็จ อนาคตของพม่าที่เคยมืดมนก็สดใสขึ้นในทันที และมีทีท่าว่าจะเป็นดาวเด่นทางเศรษฐกิจดวงใหม่เช่นเดียวกับเวียดนาม เป็นต้น

              หันมามองประเทศไทยของเราที่ค่อนข้างจะได้เปรียบประเทศอื่นในทุกๆ ด้าน และมีความเจริญมาก่อนหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้หลายสิบปี แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยเหมือนคนที่เดินถอยหลังปล่อยให้เพื่อนๆ วิ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ ถ้าถามว่าปัญหาและข้อจำกัดของไทยอยู่ตรงไหน เราก็คงจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ก็อยู่ที่ตัวของคนไทยเองที่ไม่หาทางแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองให้สิ้นสุดลงเสียที และปล่อยให้ยืดเยื้อมาเป็นเวลายาวนาน

              ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองนี่แหละครับ ที่บั่นทอนความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทย เผาผลาญเวลาและทรัพยากรมากมายมหาศาลไปโดยไร้ประโยชน์ และฉุดรั้งประเทศไทยให้ถอยหลังเข้าคลองไปทุกวัน และปมปัญหาดังกล่าวก็เกิดขึ้นเพราะคนบางคนเท่านั้น

              จริงไหมครับ ?

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

220

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน