“นายกฯ” แจงอียู “นิรโทษ” เพื่อปรองดอง
วันนี้ (13 พ.ย.2556) ‘ยิ่งลักษณ์’แจงอียูออก’พ.ร.บ.นิรโทษ’เพื่อปรองดอง แต่’ปชช.’ไม่เห็นด้วยก็หยุด ยันดูแลการชุมนุมไม่ให้มีเหตุรุนแรง-หาทางออกด้วยสันติวิธี
ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางบารอนเนสแคทเธอรีน แอชตัน (Baroness Catherine Ashton) ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป (อียู) ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เข้าเยี่ยมคารวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
โดยนายกรัฐมนตรีและนางบารอนเนสแคทเธอรีน ต่างยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและไทยมีความใกล้ชิดและมีพัฒนาการอย่างมาก โดยเฉพาะความคืบหน้าในเรื่องความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปและการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย- สหภาพยุโรป(PCA) จะเป็นอีกมิติหนึ่งของความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและสหภาพยุโรป
ด้านนายกฯ ขอบคุณสำหรับการต้อนรับของสหภาพยุโรปเมื่อครั้งเดินทางไปเยือนกรุงบรัสเซลส์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และยินดีที่นายอันโทนิโอ ทาญานี (Antonio Tajani) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป พร้อมนักธุรกิจสำคัญของสหภาพยุโรปจะมาเยือนไทยในสัปดาห์หน้าจะเป็นโอกาสอันดีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปในการแสวงหาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น
นายกฯและนางบารอนเนสแคทเธอรีนยังได้หารือถึงความสนใจของไทยในการได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราเชงเก็น โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อว่า หากสหภาพยุโรปยกเว้นการตรวจลงตราเชงเก็นให้ไทยจะช่วยกระตุ้นการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ประชาชนของไทยและยุโรปสามารถติดต่อกันได้อย่างใกล้ชิดและสะดวกมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการที่ญี่ปุ่นยกเว้นวีซ่าให้หนังสือเดินทางไทย ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวไทยกระโดดสูงขึ้นถึงร้อยละ 85
ซึ่งนายกฯและนางบารอนเนสแคทเธอรีน ได้หารือถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทย โดยนายกรัฐมนตรีย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความปรองดองในสังคม ซึ่งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นความพยายามหนึ่งที่จะสร้างความปรองดอง แต่เมื่อประชาชนและวุฒิสภาไม่เห็นด้วย รัฐบาลก็ยินดีรับฟังและจะไม่นำขึ้นมาพิจารณาอีก สำหรับการประท้วงที่เกิดขึ้น รัฐบาลจะคอยดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงและหาทางออกด้วยสันติวิธี โดยนางบารอนเนสแคทเธอรีน ได้ชื่นชมนายกฯที่มีภาวะผู้นำและสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมให้การสนับสนุนนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งที่ผ่านมาเห็นบทบาทของนายกฯในการส่งเสริมประชาธิปไตยแบบสันติ นอกจากนี้ ยังได้ชื่นชมไทยที่มีบทบาทไทยในภูมิภาคอาเซียนและสามารถจัดการกับปัญหาเรื่องพรมแดนกับกัมพูชา โดยคำนึงถึงประโยชน์และความสงบสุขในภูมิภาค ซึ่งนางบารอนเนสแคทเธอรีน กล่าวว่า สหภาพยุโรปยินดีขยายความร่วมมือกับอาเซียนเพิ่มขึ้นและอยากเห็นภูมิภาคทั้งสองร่วมมือกันใกล้ชิดเช่นนี้ต่อไป
- องค์กรสิทธิฯประสานเสียงร้องให้ปล่อยตัว14นักศึกษา หลังถูกขังเรือนจำ กลุ่มปชต.ใหม่แถลงสู้ต่อ
- “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” ทรงเป็นประธาน ในพิธีไหว้ครูและพระราชทานเหรียญรางวัลการศึกษาแก่นักเรียนนายร้อยประจำปีการศึกษา
- “รมว.พลังงาน” จ่อขยับภาษีแอลพีจีภาคขนส่ง
- สหรัฐพร้อมช่วยชาติในอาเซียนรับภาระผู้อพยพ
- “ททท.”ชี้คนจีนแห่เที่ยวไทย-คาดปีนี้ไม่ต่ำกว่า 6ล้านคน