ตรวจสารตกค้างรับเออีซี
ตรวจสารตกค้างรับเออีซี
ตรวจสารตกค้างผลผลิตการเกษตร อีกก้าวพัฒนา 'ตลาดค้าส่ง' รับเออีซี : สุรัตน์ อัตตะ ... รายงาน
การขับเคลื่อนโครงการอาหารปลอดภัยตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกของรัฐบาล โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำยุทธศาสตร์กำกับดูแลอาหารบริโภคให้มีความปลอดภัย โดยเน้นการควบคุมป้องกันการปนเปื้อนของอาหารและพัฒนาเพื่อยกระดับสถานที่จำหน่ายอาหาร โดยเฉพาะกิจการตลาดและดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ไม่ว่าจะเป็นโครงการอาหารปลอดภัย การตรวจรับรองการปนเปื้อนของสารเคมีในอาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โครงการตลาดสดน่าซื้อ หรือการตรวจรับรองโครงสร้างของตลาดให้ได้มาตรฐานของกรมอนามัย เป็นต้น ล่าสุดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ได้จับมือตลาดอุดรเมืองทอง จัดโครงการพัฒนาตลาดกลางแหล่งกระจายสินค้าประเภทค้าส่ง ผักสดและผลไม้สดเพื่อผู้บริโภครับประทานอย่างปลอดภัย
"ตลาดอุดรเมืองทองเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานตอนบน มีผู้นำผักผลไม้มาจำหน่ายที่นี่เป็นจำนวนมาก ที่นี่เป็นแห่งแรกที่เรามาตั้งห้องปฏิบัติการตรวจผัก ผลไม้และอาหารเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค" นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวระหว่างนำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนเยี่ยมชมกิจกรรมของตลาด พร้อมตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานห้องปฏิบัติการ ห้องตรวจสารปนเปื้อนในตลาดอุดรเมืองทอง เนื่องจากตลาดแห่งนี้มีความสำคัญเพราะเป็นตลาดค้าส่งพืชผักและผลไม้ในภาคอีสานตอนบน และยังเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานตอนบนอีกด้วย
นพ.วันชัย ระบุว่า หน่วยงานทางราชการ ซึ่งนำโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น ได้ให้ความสำคัญในการที่จะตรวจเรื่องคุณภาพของผักและผลไม้ จึงร่วมกับเจ้าของตลาดจัดตั้งห้องปฏิบัติการในการที่จะสามารถตรวจหาสารที่ตกค้าง ยาฆ่าแมลงที่อาจจะมีเจือปนในผักผลไม้ที่จำหน่ายในตลาด ซึ่งตลาดก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยจัดเจ้าหน้าที่มาเข้ารับการฝึกอบรม เมื่ออบรมเสร็จสิ้นแล้วจะถึงขั้นตอนปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ของตลาดจะมีการสุ่มตรวจผักผลไม้ที่นำมาขายเพื่อสร้างความมั่นใจ
"การที่เราสุ่มตรวจดูจากปริมาณ 500 ตัวอย่าง พบว่ามีการปนเปื้อนเล็กน้อย 10 ตัวอย่าง คิดเป็นสัดส่วนประมาน 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอันนี้เป็นมาตรการสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญตามนโยบายรัฐบาล เพราะสุขภาพดีเริ่มต้นที่นี่ อาหารถือเป็นเรื่องแรกที่จะทำให้คนไทยเรามีสุขภาพดีโดยเฉพาะตลาดค้าส่งคือจุดเริ่มต้นในการที่จะให้แม่บ้านซื้อผักผลไม้เพื่อนำไปประกอบอาหารที่บ้านของตนเอง"
รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุอีกว่า สำหรับห้องปฏิบัติการนั้นจะตรวจพืชผักผลไม้ทุกชนิด โดยจะสุ่มตรวจทุกวัน เนื่องจากเป็นตลาดกลางที่รับผักผลไม้ทุกชนิดจึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวัง ส่วนที่มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษก็จะมีกะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ซึ่งจะให้ผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ นอกจากนี้อุดรธานีถือเป็นเมืองหน้าด่านสำหรับ สปป.ลาว ดังนั้นจึงมีลูกค้าจากฝั่งลาวเข้ามาซื้อพืชผักผลไม้ที่ตลาดแห่งนี้และถือเป็นลูกค้าที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย
"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุดทดสอบ ชุดตรวจสอบสารพิษ โดยใช้เวลาแค่เพียง 5 นาทีก็จะรู้ผลว่าผักผลไม้ที่เราซื้อนั้นมีสารพิษปนเปื้อนหรือไม่ สำนักงานสาธารณสุขและอุดรจะมีฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาช่วยดูแลการให้ความรู้แก่ผู้ผลิตว่าทำอย่างไรถึงจะไม่มีสารปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง ถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่อันตรายก็สามารถให้จำหน่ายได้" นพ.วันชัยกล่าว
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC17025:2005 ให้แก่ห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว ณ กรุงเวียงจันทน์ โดยระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เตรียมพร้อมการตรวจสอบสารพิษตกค้างและปนเปื้อนพืชผักผลไม้และอาหารตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะแนวชายแดนที่มีช่องทางการขนส่งก็จะมีห้องปฏิบัติการไปติดตั้งเพื่อสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง
"อย่างเราสุ่มตรวจปูที่พ่อค้านำเข้าจากพม่าก็พบว่ามีสารตะกั่วตกค้างเกินมาตรฐาน เราก็ไปตรวจดูพบว่าภาชนะที่ใส่เป็นถังปี๊บเก่าขึ้นสนิม หรือถังที่ไม่มาตรฐาน ทำให้สารตะกั่วปนเปื้อนมากับเนื้อปู เราก็แนะนำไปว่าควรใช้ถังใหม่ๆ แทนเพื่อจะได้ไม่มีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเมื่อรับประทานปูเหล่านั้น"
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยอมรับว่าด้วยความจำกัดในเรื่องงบประมาณและบุคลากร ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารได้ในทุกกรณี จึงได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนบริษัทเอกชนในการส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือดูแลห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบหาสารพิษตกค้างและปนเปื้อนในอาหารเพื่อการส่งออก พร้อมทั้งยังให้การรับรองห้องแล็บของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
-----------------------
กว่าจะมาเป็นตลาดอุดรเมืองทอง
บนเนื้อที่เกือบ 100 ไร่ ของ "ตลาดอุดรเมืองทอง" ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน เต็มไปด้วยพืชผักและผลไม้ทุกชนิดจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ตลาดแห่งนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2527 หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้นายเจริญ ทีฆธนานนท์ เจ้าของตลาดแห่งนี้ จากนั้นให้เจียดพื้นที่บริเวณด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเจริญศรีพลาซ่า ถ.นิตโย บนเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นระยะเวลา 9 ปี
ต่อมาในปี 2536 ผู้บริหารได้ตั้งธุรกิจประเภทสรรพสินค้าแห่งใหม่ขึ้น จึงได้โยกย้ายผู้ค้าผักผลไม้ตามไปด้วย ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพื้นที่ว่างของห้างสรรพสินค้าเจริญศรีคอมเพล็กซ์ ถ.ส่วนบุคคล มีเนื้อที่ 10 ไร่ ตลาดได้มีการพัฒนาทุกปีจนมีผู้ค้ามากรายทำให้เนื้อที่ดังกล่าวไม่เพียงพอ จึงโยกย้ายมาที่ ถ.นิตโย อยู่บริเวณข้างห้างแม็คโคร ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบัน เริ่มจากเนื้อที่ 15 ไร่ และตลาดได้พัฒนามาเรื่อย ๆ และดำเนินการก่อสร้างโครงอาคารให้กับผู้ค้าผักและผลไม้จนถึงปัจจุบัน รวมเนื้อที่ทั้งหมด 83 ไร่ 1 งาน 72.7 ตารางวา จึงเป็นตลาดที่มีความนิยมในภาคอีสานตั้งแต่นั้นมา
ปัจจุบันในตลาดอุดรเมืองทอง มีพื้นที่ทั้งหมด 97 ไร่แบ่งออกเป็น 4 โซน คือตลาดสด ตลาดผลไม้ ตลาดผักสด และตลาดพืชไร่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ว่างสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย จากนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี จึงร่วมกับตลาดอุดรเมืองทองจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจสอบผักผลไม้และอาหารปลอดภัยขึ้น ถือเป็นตลาดแห่งแรกของ จ.อุดรธานี โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา
-----------------------
(ตรวจสารตกค้างผลผลิตการเกษตร อีกก้าวพัฒนา 'ตลาดค้าส่ง' รับเออีซี : สุรัตน์ อัตตะ ... รายงาน)