'ซีพีเอฟ'ขึ้นแท่นผู้นำอาเซียน
'ซีพีเอฟ'ขึ้นแท่นผู้นำอาเซียน
'ซีพีเอฟ' ขึ้นแท่นผู้นำอาเซียน สู่องค์กรประหยัดพลังงานยั่งยืน : โดย...อนัญชนา สาระคู
"การประหยัดพลังงาน" เป็นวาระที่หลายๆ องค์กรต่างให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่อย่าง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ที่เพิ่งจะฉลองครบรอบ 60 ปีไปหมาดๆ ที่ได้ดำเนินโครงการประหยัดพลังงานมานานถึง 10 ปี และกำลังพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยการวางระบบการบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน เพื่อก้าวสู่องค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ล่าสุด "ซีพีเอฟ" ยังได้เริ่มโครงการนำร่องไปสู่การประหยัดพลังงานตาม "มาตรฐานอาเซียน" กับกลุ่มธุรกิจการเกษตรที่อยู่ภายใต้การบริหารของซีพีเอฟเอง และแน่นอนว่ามีโอกาสขยายองค์ความรู้เหล่านั้นไปสู่เครือข่ายในธุรกิจเกษตรและอาหารอีกในอนาคต ตอกย้ำความสำเร็จในฐานะผู้นำด้านประหยัดพลังงานระดับอาเซียน
10ปีลดใช้พลังงานพันล้าน
นายจารุบุตร เกิดอุดม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ จากสำนักความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ด้านวิศวกรรมความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมและพลังงาน กล่าวว่า ซีพีเอฟ ได้ดำเนินโครงการเรื่องประหยัดพลังงานมานานตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ด้วยหลายปัจจัยที่เป็นตัวผลักดัน เรื่องแรกๆ คือต้นทุนที่แพงขึ้น น้ำมันแพงขึ้น และหายากขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญเป็นลำดับต้น ถัดมาคือการที่เราได้ยินคำที่เป็นกระแสโลก เช่น โลกร้อน และคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ เป็นต้น ทำให้เราจะต้องพัฒนาตนเอง และปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสโลก
นอกจากนี้ เริ่มมีกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงในเรื่องพลังงานออกมาบังคับใช้ในประเทศไทย เช่น จากกระทรวงพลังงาน เรื่องการอนุรักษ์พลังงาน กำหนดให้ใช้พลังงานอย่างประหยัด ให้คุ้มค่าและมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน เริ่มมีข้อกำหนดของลูกค้า สอบถามความคืบหน้าเรื่องการประหยัดพลังงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องและสุดท้ายคือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน ที่ซีพีเอฟจะต้องคำนึงถึง ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนด้วย
ในเรื่องความมั่นด้านพลังงาน เราทำมานาน ซึ่งมี 5-6 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือการใช้พลังงานที่มีความหลากหลาย ซึ่งซีพีเอฟใช้พลังงานอยู่มากถึง 17 ชนิด ทั้งไฟฟ้า พลังงานใช้แล้วหมดไป และพลังงานใช้แล้วไม่หมดไป(พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทน) โดยโครงสร้างการใช้พลังงานของบริษัท ล่าสุดเป็นดังนี้ ไฟฟ้า 48% อีก 30% เป็นเรื่องพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และอีก 22% คือพลังงานที่สามารถหามาได้ เช่น ซังข้าวโพด เศษไม้ แกลบ กะลาปาล์ม และของเหลือจากอุตสาหกรรมการเกษตร หรือภาคเกษตรกรรม
"เท่าที่ผมรับทราบมา การใช้พลังงานที่ใช้แล้วหมดไปสัดส่วน 22% น่าจะเป็นตัวเลขที่เยอะที่สุดของหน่วยงานในประเทศไทย ซึ่งนี่เป็นตัวเลขของปีที่แล้ว และปีนี้ก็น่าจะเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน แต่เรามีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นไปอีก โดยความมั่นคงทางพลังงานนั้นเราจะต้องใช้พลังงานที่มีความหลากหลาย แหล่งที่มาต้องมีความมั่นคงและเพียงพอไม่ฉาบฉวย ราคามีความผันแปรค่อนข้างน้อย และพยายามหาพลังงานของตัวเอง เช่น ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟทั้งหมด มีการนำน้ำเสียมาทำเป็นไบโอแก๊ส และเราได้เริ่มก้าวไปสู่การใช้โซลาร์เซลล์อีกด้วย" นายจารุบุตร กล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการด้านประหยัดพลังงานตั้งแต่ปี 2547-2555 ซีพีเอฟ ช่วยชาติประหยัดพลังงาน คิดเป็นเม็ดเงินสะสมแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท จากโครงการประหยัดพลังงานกว่า 200 โครงการ ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 350 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ซีพีเอฟยังต้องค้นคว้าหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่เรื่องการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ซึ่งจะเป็นประเด็นที่จะนำไปสู่มาตรฐานระดับ "เออีซี" คือพยายามหาเครื่องมือในการพัฒนาการประหยัดพลังงานด้วยจัดทำเป็นระบบ ให้เป็นระบบการบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืน นับเป็น "เชนจ์" หรือ "การเปลี่ยนแปลง" ครั้งสำคัญของซีพีเอฟ โดยการจัดทำเป็นแผนการประหยัดพลังงานไปสู่ความยั่งยืนต่อไป
สร้างคนสร้างพลังงานยั่งยืน
นายจารุบุตร ยังกล่าวว่า "ซีพีเอฟ" ได้มุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้ตรวจประเมินระบบมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001 ตามมาตรฐานการฝึกอบรมของสถาบัน IRCA ประเทศอังกฤษแล้ว ยังได้ส่งบุคลากรของซีพีเอฟเข้าร่วมอบรม "ระบบการจัดการพลังงานมาตรฐานสังคมเศรษฐกิจอาเซียน” (AEMAS)
จากเข้าร่วมอบรม AEMAS ในครั้งนั้น ทำให้ทางผู้บริหารบริษัทสนใจในระบบดังกล่าว เพราะเห็นว่าน่าจะทำให้แผนการประหยัดพลังงานเกิดผลได้จริงและจับต้องได้ เพราะมาตรฐานของ AEMAS มีความเด่นชัดที่สามารถวัดในเชิงประสิทธิผลได้ ไม่ใช่เพียงเอาแต่ภาพเท่านั้น จึงได้นำไปใช้กับโรงงานแปรรูปสุกรแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นแห่งแรก และถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยโรงงานดังกล่าวได้รับการรับรองมาตรฐาน AEMAS ในระดับ 1 ดาว ซึ่งใช้เวลา 7-8 เดือน
เขาขยายความว่า มาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานระดับอาเซียน ที่รัฐมนตรีพลังงานของประเทศในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศลงนามร่วมกัน โดยมี 3 ระดับ คือ ระดับ 1 ดาว คือการที่จะต้องผ่านระบบมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001 นอกจากนี้จะต้องมีบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้จัดการพลังงานมืออาชีพ หรือที่เรียกว่า CEM อีกทั้งต้องมีความชัดเจนในเรื่องแผนงานการปรับปรุงด้านพลังงาน โครงการจะต้องได้รับการอนุมัติ และพนักงานทุกระดับจะต้องเข้ามาให้ความร่วมมือทั้งหมด
ระดับ 2 ดาว แน่นอนว่าต้องผ่านระดับที่ 1 มาก่อน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ CEM จะต้องพัฒนาเลื่อนขึ้นมาเป็นมืออาชีพ ทั้งต้องทำต่อเนื่อง ที่สำคัญต้องมีความสำเร็จตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เช่น การลดใช้พลังงานลงให้ได้ 5% โดยจะต้องทำต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
ส่วนระดับ 3 ดาว เป็นระดับสุดท้าย จะเป็นระดับที่ดูในเรื่องความมั่นคง โดยจะต้องได้ดาวที่ 2 มาไม่น้อยกว่า 18 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่ามีกระบวนการในการคิดโครงการและทำโครงการที่ได้ผลชัดเจนจริงๆ
"รวมแล้วจะใช้ระยะเวลาทั้งหมดราว 4 ปีครึ่ง ถึง 5 ปี และหากไม่ทำต่อเนื่องก็จะถูกดาวถอดทิ้ง หากต้องการทำใหม่อีกครั้งก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ดังนั้นจะทำให้ไม่สามารถสร้างภาพได้ ซึ่งน่าจะเป็นข้อดีของ AEMAS และเมื่อทำได้ครบแล้วก็ต้องทำต่อเนื่องและจะมีหน่วยงานมาคอยติดตามตรวจสอบว่ายังเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่"
เขากล่าวว่า แม้เราจะเริ่มที่โรงงานแปรรูปสุกรแปดริ้ว แต่การจะนำไปขยายผลนั้นทำได้ยาก เนื่องจากซีพีเอฟเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ทางผู้บริหารจึงมีแนวคิดที่จะเริ่มโครงการนำร่องให้ครบทั้งห่วงโซ่การผลิต (ซัพพลายเชน) โดยกำหนดให้โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มสัตว์ และโรงงานแปรรูปอาหาร รวม 14 โรงงาน ซึ่งครอบคลุมโรงงานขนาดใหญ่ของซีพีเอฟ ระยะสั้น ตั้งเป้าจะต้องได้มาตรฐานการรับรอง AEMAS ในระดับ 1 ดาว ภายในปี 2557
ประกอบด้วย โรงงานผลิตอาหารสัตว์บก 4 โรงงาน, โรงงานอาหารสัตว์น้ำ 1 โรงงาน, ฟาร์มเลี้ยงสัตว์บก 1 แห่ง, ฟาร์มสัตว์น้ำ 1 แห่ง, โรงงานอาหารแปรรูปสัตว์บก 6 โรงงาน และโรงงานอาหารแปรรูปสัตว์น้ำ 1 โรงงาน
นอกจากนี้ เพื่อรองรับกับแผนดังกล่าว ซีพีเอฟยังได้ส่งบุคลากรไปอบรมมาตรฐานดังกล่าวอีก 60 คน โดยบุคลากรทั้ง 60 คน ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้จัดการพลังงานมืออาชีพ หรือเป็น CEM แล้วยังจะเป็นฐานในการพัฒนาเรื่องระบบพลังงานในอนาคตของซีพีเอฟต่อไป โดยเบื้องต้นเราจะสร้างความแข็งแรงภายในประเทศก่อนที่จะกระจายออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่ซีพีเอฟมีการเข้าไปลงทุน
"เป้าหมายของ AEMAS คือ การลดต้นทุน ซึ่งมีการกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 5% โดยคาดว่าโรงงานทั้ง 14 แห่ง น่าจะใช้ระยะเวลาตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือ 4-5 ปีในการได้รับการรับรองมาตรฐานระดับดาวดวงที่ 3 โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการให้ความรู้ ความเข้าใจกับทางโรงงาน ที่ขั้นต่อไปจะไปแยกแยะต้นทุนด้านพลังงานต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร และจะสามารถลดการใช้พลังงานส่วนใดลงได้บ้าง เพื่อเดินหน้าการประหยัดพลังงานต่อไป" นายจารุบุตร กล่าว
ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม
นายจารุบุตร กล่าวด้วยว่า จากการดำเนินโครงการประหยัดพลังงานมาต่อเนื่อง 10 ปีนั้น ทางบริษัทยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านจัดการพลังงานจากภายในองค์กรไปสู่สังคมและชุมชน ซึ่งการจัดการด้านพลังงานจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับปรุงกระบวนการผลิตและวิธีปฏิบัติงานที่มุ่งลดการใช้พลังงาน เช่น การออกแบบกระบวนการผลิตที่ลดการใช้พลังงาน และการจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตเพื่อนำกลับมาเป็นพลังงานทดแทน
องค์ความรู้ในเรื่อง AEMAS ก็เช่นกัน ที่มีโอกาสนำออกไปสู่คู่ค้าและลูกค้าของซีพีเอฟต่อไปในอนาคต
"ที่ผ่านมาเราได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ลูกค้าและคู่ค้าของซีพีเอฟ เช่น ลูกค้าที่ซื้ออาหารสัตว์ และพันธุ์สัตว์ของซีพีเอฟ เราก็เริ่มขยายให้ความรู้เรื่องไฟฟ้า ความปลอดภัยด้านไฟฟ้า ซึ่งทางลูกค้าให้ความสนใจมาก เรื่องพลังงานก็เช่นเดียวกัน ที่ต่อไปจะค่อยๆ ขยายไปในรูปแบบนี้ก็มีโอกาส รวมถึงเกษตรกรในโครงการสร้างงานสร้างอาชีพ หรือ คอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง กับซีพีเอฟ ในอนาคตด้วย ซึ่งจากการทำงานร่วมกันทั้งคู่ค้าและลูกค้าเองก็ให้ความสนใจและความร่วมมือเป็นอย่างดี" นายจารุบุตร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จจากโครงการประหยัดพลังงานต่างๆ ของทางซีพีเอฟนั้น เกิดจากการมีส่วนร่วมและสร้างจิตสำนึกด้านอนุรักษ์พลังงานแก่พนักงานทุกระดับ ตลอดจนการส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนปรับปรุงการผลิตและการปฏิบัติงานเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และนำระบบบริหารจัดการพลังงานระดับสากลมามาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการการใช้พลังงาน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน
---------------------
('ซีพีเอฟ' ขึ้นแท่นผู้นำอาเซียน สู่องค์กรประหยัดพลังงานยั่งยืน : โดย...อนัญชนา สาระคู)