ฝันเนรมิตประเทศไทยเป็น'ซีด ฮับ'
ฝันเนรมิตประเทศไทยเป็น'ซีด ฮับ'
เนรมิตประเทศไทยเป็น 'ซีด ฮับ' ! ฝันใหญ่โตหรือความจริงแค่เอื้อม ? : ดลมนัส กาเจ ... รายงาน
ดูเหมือนว่า หลายภาคส่วนพูดถึงที่จะเนรมิตให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของเอเชียแปซิฟิก หรือ "ซีด ฮับ" (Seed Hub) โดยเฉพาะภาคเอกชนมีการพูดคุยกันหลายรอบแล้ว ขณะที่รัฐบาล แม้ว่านโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์เมล็ดพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2552 และในปี 2555 มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักดำเนินโครงการ แต่พุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตเมล็ดพันธุ์รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี กำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2556-2561 โดยมีแนวคิด 2 ภารกิจด้วยกัน คือ 1.สร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรในประเทศ ให้สามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ดีอย่างเพียงพอ 2.ภาครัฐต้องสนับสนุนให้ธุรกิจเมล็ดพันธุ์สามารถขับเคลื่อนไปได้ แต่กระนั้นไม่ชัดเจนนัก
บนเวทีเสวนาหัวข้อ “ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของเอเชียแปซิฟิก หรือซีด ฮับ (Seed Hub)” ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯเมื่อเร็วๆ นี้ นายพาโชค พงษ์พานิช อดีตนายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่ไทยจะเป็นซีด ฮับ ว่า ถ้ามองจากตัวเลขมูลค่าตลาดเมล็ดพันธุ์ควบคุม(เมล็ดพันธุ์พืชไรเฉพาะ ข้าวโพดไร่ ข้าวฟ่าง และทานตะวัน) ในปี การส่งออกเมล็ดพันธุ์ของไทยพบว่า ปี 2551 มีมูลค่า 6,265 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 มีมูลค่าตลาดเมล็ดพันธุ์ควบคุม 9,306 ล้านบาท จะเห็นว่าอัตราการเติบโตในประเทศประมาณ 6-7% แต่ตัวเลขการส่งออกใน 5 ปีการเติบโตเฉลี่ย 10-11%
"ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2556 มีมูลค่าในการส่งออกเมล็ดพันธุ์กว่า 4,000 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปีของปี 2555 ที่มูลค่าการส่งออก 3,900 ล้านบาท ในส่วนนี้ไม่ได้รวมข้าวและปาล์มน้ำมัน สำหรับพืชหลักในการส่งออกของไทยคือ ข้าวโพดไร่ มูลค่ามากที่สุด 1,600 ล้านบาท พืชผักที่สำคัญๆ อาทิ มะเขือเทศ พริก แตงโม แตงกวา และข้าวโพดหวาน มีมูลค่าการส่งออก 1,700 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเมล็ดอย่างอื่น ขณะที่ความต้องการเมล็ดพันธุ์ในประเทศถึง 1,045,050 ตันต่อปี เป็นข้าวโพด 21,565 ตันต่อปี ถั่วเหลือง 8,000 ตัน เป็นต้น ถ้าประเทศไทยต้องการเป็น ซีด ฮับ จะมีพืชไม่กี่ชนิดที่มีความพร้อม เพราะประเทศไทยดำเนินการอยู่ 2 ส่วน คือ รับจ้างผลิตและแบรนด์ของไทย ดังนั้นถ้าจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นซีด ฮับ ก็คงเป็นพืช 5-6 ชนิดนี้ที่มีโอกาสที่จะดำเนินการได้ ขณะกฎระเบียบต่างๆ ก็เป็นอุปสรรคอยู่" นายพาโชค กล่าว
ด้าน ดร.นารีลักษณ์ วรรณสาย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช จ.พิษณุโลก กล่าวถึงนโยบายภาครัฐที่ผลักดันให้ไทยเป็น ซีด ฮับ ว่า กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการปลดล็อกเงื่อนไขบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นการแสดงความจริงใจของภาครัฐในการผลักดันธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของไทยเดินหน้าต่อไปได้ เพราะการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ซีด ฮับ นั้น เป็นนโยบายระดับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
"การปรับปรุงกฎระเบียบกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องยาก ประเด็นคือ ต้องคงเจตนารมณ์เดิมของข้อกฎหมายด้วย ฉะนั้นก่อนเข้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ทางกรมวิชาการเกษตรได้จ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายให้มาศึกษากฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ โดยนำมาพิจารณาร่วมกับคำร้องของสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย อาทิ พ.ร.บ.กักพืช จะมีการปลดล็อกเรื่องการนำสิ่งต้องห้ามจากงานวิจัยไปสู่การค้า หรือปรับปรุงการวิเคราะห์ความเสี่ยงให้มีความรวดเร็วขึ้น ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชอยู่ระหว่างการปรับปรุงโดยการแยกสิทธิของนักปรับปรุงกับการอนุรักษ์ และการแก้คำนิยามพันธุ์พืชทั่วไปเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความชัดเจนมากขึ้น ทำควบคู่กับการแก้ไขคำนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งทางกฤษฎีกาตีความ" ดร.นารีรักษณ์ กล่าว
ส่วน ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและประธานผู้แทนการค้าไทย ระบุว่า ทิศทางการวิจัยเมล็ดพันธุ์ต้องดูความต้องการของผู้บริโภคและตลาด จึงจะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อย่างที่ผ่านมาพืชจีเอ็มโอมีการพูดว่าดีหรือไม่ดี เพราะว่าแต่ละฝ่ายมีเป้าหมายอยู่แล้ว รัฐบาลต้องตั้งโจทย์ใหม่ที่ถูกต้อง ต้องทำให้ได้คำตอบกว่า 70% แต่ถ้าตั้งโจทย์ผิดการทำงานก็จะผิดพลาด ขณะที่ภาคเอกชนควรขอให้ภาครัฐกำหนดทิศทาง และนโยบายการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่มีความชัดเจน อย่างกรณีเรื่องปัญหาคำนิยามพันธุ์พืชทั่วไป ขอให้เอกชนเสนอเปรียบเทียบมาของเดิมที่ใช้อยู่กับร่างใหม่ พร้อมทั้งขั้นตอนที่ติดขัดคืออะไร เพื่อจะนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป
ขณะที่ ดร.อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเคยมีชื่อเสียงในการปรับปรุงพันธุ์พืชมายาวนาน โดยปี 2476 ประเทศไทยเคยได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดพันธุ์ข้าว คือ พันธุ์ข้าวปิ่นแก้ว และเป็นต้นการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไทยอย่างต่อเนื่อง ต่อมามีภาคเอกชนหลายบริษัทมาผลิต ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกเมล็ดพันธุ์ แต่ปัจจุบันงานยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรไม่มีเรื่อง ซีด ฮับ แต่เป็นเพียงมุมมองเอกชนและนักวิชาการที่เห็นโอกาส ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน
ที่สำคัญปัจจุบันประเทศไทยไม่มีงานวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ด้านการปรับปรุงพันธุ์ ทั้งที่ประเทศไทยมีพันธุ์ที่เข้มแข็ง และเกษตรกรมีทักษะที่พร้อม ดังนั้นรัฐบาลต้องพัฒนาข้าราชการ เพราะทุกวันนี้มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เช่น พันธุวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความพร้อม แต่กฎระเบียบไม่เอื้อต่อการทำงานจึงเกิดการหยุดชะงัก รัฐควรปรับปรุงกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเป็น ซีด ฮับ โดยคำถามคือ ขณะที่ไทยห้ามวิจัยพืชจีเอ็มโอ แต่เรานำเข้าผลผลิตจีเอ็มโอโดยเฉพาะถั่วเหลือง ส่วนแก้กฎหมายทำได้ยาก จึงเสนอให้ออกระเบียบภายใต้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยรับฟังและหารือร่วมกันกับทุกภาคส่วน คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลักจะดีกว่า
หากประเมินจากเหตุผลของบรรดาวิทยากรที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเมล็ดพันธุ์พืชสะท้อนออกมา แม้ประเทศไทยจะมีโอกาสเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของเอเชียแปซิฟิกหรือ "ซีด ฮับ" เพราะอัตราการเติบโตของธุรกิจเมล็ดของไทยโตขึ้นทุกปี แต่หากย้อนดูในส่วนที่เป็นอุปสรรคไม่ว่าจะเป็นยังขาดเมล็ด อาทิ ถั่วเหลือง และอื่น ผสมผสานกับกฎระเบียบแล้ว สุดท้ายก็กลายเป็นการวาดวิมานในอากาศ หรือความฝันอันใหญ่โตเท่านั้น
-----------------------
(เนรมิตประเทศไทยเป็น 'ซีด ฮับ' ! ฝันใหญ่โตหรือความจริงแค่เอื้อม ? : ดลมนัส กาเจ ... รายงาน)