ส่องเวียดนามคู่แข่งและคู่ค้า

ส่องเวียดนามคู่แข่งและคู่ค้า

เปิดหูเปิดตาอาเซียน : ส่องเวียดนามคู่แข่งและคู่ค้า ทุนเฮโลลงทุนมั่นใจกำลังซื้อโตตามศก.

 

                         "เวียดนาม" ถูกมองว่าเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 เนื่องจากเวียดนามเป็นตลาดใหญ่มีประชากรกว่า 90 ล้านคน มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่า 5-6% มาโดยตลอด ที่สำคัญมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ทั้งถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ สินค้าเกษตรจนสามารถส่งออกสินค้าหลายชนิดแข่งขันกับไทย เช่น ข้าว หรือกาแฟ พริกไทย รวมทั้งยังเป็นคู่แข่งด้านฐานการผลิตที่สำคัญ โดยในช่วงที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างชาติ หรือแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยก็แห่เข้าไปลงทุนจำนวนมาก จนมองกันว่าเวียดนามเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในอนาคต แม้ขณะนี้เวียดนามจะถ่อมตนว่ายังห่างชั้นจากไทย 25-30 ปีก็ตาม

                         น.ส.พรรณพิมล สุวรรณพงศ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว มีสินค้าส่งออกหลักๆ ได้แก่ ข้าว อาหารทะเล สิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ หลังจากที่ซัมซุงเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเพื่อส่งออกในเวียดนาม โดยมีตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐ อียู อาเซียน จีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดเดียวกับไทย

                         อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยไม่ต้องการเป็นคู่แข่งกับเวียดนาม ทำให้ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามอยู่ในระดับที่ดีมาก และถือเป็นชาติแรกที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ มีข้อตกลงจะเพิ่มปริมาณการค้าปีละ 20% ตั้งแต่ปี 2555-2558 จากปัจจุบันอยู่ที่ 6,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะนี้ภาครัฐและเอกชนเองก็ค่อนข้างเป็นห่วงว่าจะทำไม่ได้ตามเป้าหมาย เพราะจากระบบการปกครองในปัจจุบันทำให้การขอข้อมูลต่างๆ ยังเข้าถึงได้ยากและกฎหมายที่ต่างกันของแต่ละจังหวัด จึงอยากแนะนำให้เอกชนตั้งที่ปรึกษาด้านกฎหมายคอยให้การช่วยเหลือ

                         ด้านนางมาลินี หาญบุญทรง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ กล่าวว่า ไทยมีสำนักงานส่งเสริมการค้าที่เมืองโฮจิมินห์และฮานอย โดยที่ผ่านมาพบว่า มีต่างชาติเข้ามาทำการค้าและลงทุนในเวียดนามจำนวนมาก เนื่องจากเวียดนามมีทรัพยากรมากและค่าแรงถูกกว่าเมืองไทย หรือเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ทำให้ช่วง 9 เดือนของปีนี้ มีโครงการลงทุนจากกลุ่มเกาหลีใต้เข้ามามากที่สุด โดยเฉพาะการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า รองลงมาเป็นญี่ปุ่น สิงคโปร์ ขณะที่ไทยมี 22 โครงการ อยู่อันดับ 8 ส่วนในแง่เม็ดเงินลงทุน สิงคโปร์นำมาเป็นอันดับ 1 ตามด้วยเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ขณะที่ไทยอยู่อันดับ 6 แต่ในอนาคตหากนับรวมการลงทุนของกลุ่มบมจ.ปตท.ในการสร้างโรงกลั่นมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์จะทำให้ไทยแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แทน

                         การเข้ามาลงทุนในเวียดนามนั้น ผู้ประกอบการสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ 100% และนำเงินออกได้ ยกเว้นที่ดินจะเป็นเจ้าของ 100% หรือซื้อขาดไม่ได้ ต้องเช่าระยะยาว 50 หรือ 70 ปี เป็นต้น ส่วนสินค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนจะเป็นกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะซีพีเวียดนามถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นสินค้าไทยถือว่าได้รับความนิยมและเข้ามาครองตลาดตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน แต่ขณะนี้มีสินค้าจากหลายประเทศเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดกันมากขึ้น

                         “การเข้ามาลงทุนในเวียดนามต้องตั้งเป้าว่าจะเข้ามาในอุตสาหกรรมกลุ่มไหน เพราะจะมีกฎระเบียบที่แตกต่างกัน และยังมีการปรับเปลี่ยนบ่อย โดยแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน รวมถึงเงื่อนไขในการจดทะเบียนตั้งบริษัท หรือเรื่องภาษาจึงต้องมีการศึกษาให้เข้าใจก่อน และถ้าเป็นไปได้ควรเข้ามาดูของจริงในเวียดนามแทนที่จะขอข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อจะได้ข้อมูลที่ทันสมัยและดูว่าสินค้าแบบไหนเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเห็นว่าต้องเป็นสินค้าที่มีความแตกต่างและเน้นเรื่องคุณภาพเป็นหลัก เพราะคนเวียดนามส่วนใหญ่ยอมจ่ายเงินแลกกับสินค้าคุณภาพ” นางมาลินีกล่าว

                         นางรักษ์ดาว พริทชาร์ด นายกสมาคมนักธุรกิจไทยในเวียดนาม กล่าวว่า จากการติดต่อธุรกิจกับลูกค้าที่ค่อนข้างหลากหลายทำให้เห็นเทรนด์ของการเข้ามาทำธุรกิจในเวียดนามมาโดยตลอด จากช่วงแรกเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า รองเท้า แต่ช่วงหลังนี้มีโรงงานผลิตสินค้าด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น มี ฮอนด้าเข้ามาตั้งโรงงาน ซึ่งส่วนหนึ่งย้ายฐานผลิตมาจากไทยหลังเกิดปัญหาน้ำท่วมปี 2554  หรือโรงงานผลิตมือถือซัมซุง โรงงานผลิตเครื่องซักผ้าโตชิบา โดยรวมมีการลงทุน 1,500 โครงการ จาก 100 กว่าประเทศ ขณะที่การลงทุนของไทยมี 313 โครงการ มูลค่า 6.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น เครือซีพี เอสซีจี ไทยคอร์ป กระทิงแดง เป็นต้น 

                         "โดยส่วนตัวมองว่าเวียดนามยังน่าสนใจเข้ามาทำธุรกิจรับเออีซี และยังเนื้อหอมสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพราะยังมีความได้เปรียบด้านค่าแรง โดยที่ไทยจ่ายวันละ 300 บาทแต่ที่เวียดนามเพียงวันละ 100 บาทเท่านั้น" นางรักษ์ดาวกล่าว

                         ขณะที่นางศิริพร คุณเวชสุวรรณ ตัวแทนจากธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เศรษฐกิจของเวียดนามโตเร็ว แต่โครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน และระบบรางยังไม่พร้อม ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งจากเหนือลงใต้สูงมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหา โดยพบว่ายังมีเงินลงทุนเข้ามาปีละกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการส่งออกเพิ่มขึ้นเท่าตัว จนทำให้จากที่เคยขาดดุลการค้าเริ่มจะเกินดุลการค้าบ้างแล้วต่างชาติมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ จึงมั่นใจว่าการลงทุนในเวียดนามยังไม่ชะลอตัว

 

 

-------------------------

(เปิดหูเปิดตาอาเซียน : ส่องเวียดนามคู่แข่งและคู่ค้า ทุนเฮโลลงทุนมั่นใจกำลังซื้อโตตามศก.)

 

 

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

209

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน