เออีซีหนุนการค้าไทย-อินโดฯ
เออีซีหนุนการค้าไทย-อินโดฯ
เปิดหูเปิดตาอาเซียน : เออีซีหนุนการค้าไทย-อินโดฯ เตือนเอสเอ็มอีต้องฝ่าอุปสรรคเยอะ
ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยนายอัทธ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์การค้าและการลงทุนของอินโดนีเซียหลังปี 2015 : ผลกระทบต่อประเทศไทย พบว่า ไทยจะได้ประโยชน์ด้านการค้าขายกับอินโดนีเซียหลังการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2015 หรือปี พ.ศ.2558 แต่ในด้านการเข้าไปลงทุนยังมีอุปสรรคหลายด้านสำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีไทย
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียนหลังปี 2015 พบว่า อินโดนีเซียจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็น 6.5% ต่อปี จากก่อนปีเออีซี มีอัตราการขยายตัว 5.6% ขณะที่ไทยจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 4.3% เป็น 4.7% ขณะที่ลาวจะมีการขายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดหลังปี 2015 จากเดิม 7.4% เป็น 7.7% อย่างไรก็ตาม หลังเปิดเออีซีแล้วสถานการณ์การค้าจะดีขึ้น โดยไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นจากเดิม 4.9% ในปี 2555 มูลค่า 11,154 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 7.8% หรือคิดเป็นมูลค่า 27,557 ดอลลาร์สหรัฐของการส่งออกไปตลาดอาเซียนทั้งหมด โดยคาดว่าในปี 2558 มูลค่าส่งออกของไทยไปในตลาดอาเซียนในภาพรวมจะเพิ่มขึ้น เป็น 87,014 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 29.7%
"ไทยจะได้ประโยชน์จากกำลังซื้อของประชากรอินโดนีเชียที่มีมากถึง 250 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ 450,000 บาทต่อคนต่อปี สินค้าไทยที่มีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าในหมวดอาหาร เช่น อาหารสำเร็จรูป ประเภทก๋วยเตี๋ยว แป้ง ผลไม้แปรรูป เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำตาล ผลิตภัณฑ์จากพืช สินค้าอุปโภคบริโภคจำพวกของใช้ ของเล่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์" นายอัทธ ระบุ
สำหรับสินค้าที่เป็นคู่แข่งระหว่างกันในอาเซียน ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา เชื้อเพลิงน้ำมันปาล์ม อัญมณีพลาสติกปลาและสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์ไม้ ซึ่งอุตสาหกรรมไทยที่คาดว่าจะเสียเปรียบแก่อินโดนีเซียหลังเปิดเออีซีแล้ว คือกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากอินโดนีเชียมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ เช่น ยางพารา อินโดนีเซียมีพื้นที่ปลูกยางพาราถึง 21 ล้านไร่ ซึ่ง ในปี 2558 ผลผลิตยางพาราจะเพิ่มเป็น 4 ล้านตัน ส่วนของไทยมีพื้นที่ปลูกเพียง 19 ล้านไร่ มีผลลิตประมาณ 3 ล้านตันเศษ โดยอินโดนีเซียมีอุตสาหกรรมกลางน้ำที่ผลิตเป็นยางแท่ง ยางแผ่น และน้ำยางข้น ทั้งมีการใช้วัตถุดิบในประเทศในสัดส่วนที่สูงถึง 36% ทำให้เป็นจุดดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากกว่าไทย ส่วนไทย มีอุตสาหกรรมกลางน้ำในสัดส่วนเพียง 13% และต้องพึ่งพาการส่งออกสูงถึง 77% ซึ่งอาจจะทำให้ไทยต้องสูญเสียตลาดส่งออก เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ได้
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยสามารถที่เร่งจะพัฒนาอุตสหากรรมยางพาราได้ โดยจะต้องเร่งเพิ่มสัดส่วนอุตสาหกรรมกลางน้ำในประเทศให้มากขึ้น โดยการสนับสนุนให้กลุ่มสหกรณ์ให้สามารถแปรรูปยางพารา เป็น ยางแท่ง ยางแผ่นรมควันให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มมุลค่าให้ได้ไม่ต่ำกว่า 150% ซึ่งรัฐจะต้องสนับสนุนด้านเงินทุนราว 100-150 ล้านบาทต่อแห่ง ซึ่งจะทำให้สหกรณ์การเกษตรสามารถรับซื้อยางพาราได้ที่กิโลกรัมละ 100-150 บาท รวมทั้งการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการอาเซียนในอุตสาหกรรมยาง เพื่อยังเป็นศูนย์กลางด้านยางพาราของโลก
นายอัทธกล่าวถึงด้านการลงทุนทางตรงในอินโดนีเซียว่า ในระหว่าง 2555-2557 อินโดนีเซียเป็นเป้าหมายการลงทุนจากต่างประเทศเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ด้วยตลาดที่มีขนาดใหญ่และโครงสร้างสาธารณูปโภคพร้อม อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยกับอินโดนีเซียนั้นมีข้อด้อยอยู่ตรงที่มีความห่างไกลกัน ทำให้ประเทศเพื่อบ้านในกลุ่มซีแอลเอ็มวี จึงมีความน่าสนใจลงทุนมากกว่ามากกว่า
ทั้งนี้ ธุรกิจไทยที่จะสามารถไปลงทุนในอินโดฯ ได้จึงเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น สวนกลุ่มเอสเอ็มอีของไทยยังไม่มีความพร้อมพอ ซึ่งนอกจากปัญหาด้านความห่างไกลแล้ว ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมาย อัตราค่าจ้างแรงงานเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น รัฐบาลและผู้ประกอบการไทยจะต้องคำนึงถึงในการทำธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย คือจะต้องมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประเทศดังกล่าว ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน ช่องทางการตลาด และมีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ รู้ข้อกฎหมายและกติกาในการลงทุน
นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังในการทำธุรกิจ โดยอินโดนีเซียมีการเกิดภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว มีมาตรการที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีในการกำกับดูแลสินค้า คุณภาพโครงสร้างพื้นฐานต่ำกว่าประเทศในอาเซียนอื่น การขนส่งและไฟฟ้าเป็นปัญหาหลักของนักธุรกิจ ราคาสินค้าค่อนข้างสูง และดัชนีโลจิสติกส์ต่ำ ดังนั้น เหมาะสำหรับการส่งสินค้าไปขายมากกว่าการเข้าไปลงทุน
----------------------
(เปิดหูเปิดตาอาเซียน : เออีซีหนุนการค้าไทย-อินโดฯ เตือนเอสเอ็มอีต้องฝ่าอุปสรรคเยอะ)