'แขวงบ่อแก้ว'ยกระดับแรงงานลาวทั้งระบบรับอาเซียน

'แขวงบ่อแก้ว'ยกระดับแรงงานลาวทั้งระบบรับอาเซียน

'แขวงบ่อแก้ว'ยกระดับแรงงานลาวทั้งระบบรับอาเซียน

              นับจากนี้ไปแม่น้ำโขงที่คั่นพรหมแดนลาว-ไทย ระหว่างเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว กับอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จะกลายเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการเดินทางเชื่อมการ ค้า และการท่องเที่ยวระหว่างประชาชน 2 ประเทศ แต่ต่อไปจะอาศัยสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย)เป็นเส้นทางหลัก ภายหลังจากที่มีการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2556ดังนั้น เท่ากับว่าบทบาทของเมืองห้วยทราย ในฐานะประตูหน้าด่านของถนนอาร์ 3 เอ(ไทย-ลาว-จีน)จะต้องตั้งรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเศรษฐกิจ เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์แบบนับจากนี้ไป  โดยเฉพาะการพัฒนาฝีมือแรงงานชาวลาวให้รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเมือง

              ท่านพหน พรมปันยา หัวหน้าแผนก แรงงานและสวัสดิการสังคม แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว กล่าวว่า แขวงบ่อแก้วเป็น 1 ใน 16 แขวงของสปป.ลาว มีเมืองในการปกครอง 5 เมือง คือ เมืองห้วยทราย, เมืองต้นผึ้ง, เมืองเมิง, เมืองผาอุดม และเมืองปากทา  โดยปัจจุบันนี้แรงงานลาวยังอยู่ระหว่างการพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สอดคล้องกับการเติบโตของแต่ละเมือง จึงอยากให้เพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย ช่วยเหลือในการเชื่อมความสัมพันธ์ และพัฒนาแรงงาน, เทคโนโลยี และการท่องเที่ยวไปด้วยกัน
ทางแขวงบ่อแก้ว เพิ่งจะมีการประชุมเชิงปฎิบัติการเสริมสร้างความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพแรงงานระหว่างประเทศไทย-ลาว ภายใต้การขับเคลื่อนของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน เป็นครั้งแรก จึงเล็งเห็นว่าน่าจะเป็นเวทีที่ช่วยให้แผนการพัฒนาบุคลากรของแขวงบ่อแก้วบรรลุสู่เป้าหมายได้ โดยเฉพาะการเกษตร ปัจจุบันนี้แขวงบ่อแก้วเป็นพื้นที่ปลูกยางพารามากกว่า 60,000 ไร่ แต่แรงงานชาวลาวยังขาดทักษะในการกรีดยางพารา และเทคนิคในการผลิตมีดกรีดยางพารา จึงอยากให้มีการสร้างแรงงานกรีดยางพาราขึ้นมา

              ขณะที่ชาวลาวในพื้นที่ของแขวงบ่อแก้วยังไม่ได้พัฒนาการตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สวมใส่ได้ จึงจำเป็นต้องมีการสร้างแรงงานด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการเติบโตของธุรกิจบริการ และการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยว แต่แรงงานชาวลาวยังขาดทักษะในด้านการให้บริการตามมาตรฐานสากล จึงต้องเพิ่มองค์ความรู้ให้รอบด้าน เพราะขณะนี้ในฐานะที่เป็นเมืองท่าเชื่อมโยงถนนอาร์3เอไ(ทย-ลาว-จีน) และจุดลงเรือน้ำโขงไปเมืองหลวงพระบาง การเพิ่มศักยภาพแรงงานด้านการบริการจึงเป็นสิ่งสำคัญ

              ท่านทองจัน วันนะสิด รองหัวหน้าแผนก แรงงานและสวัสดิการสังคม แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกของการพบปะระหว่างหน่วยงานราชการของแขวงบ่อแก้ว และแรงงานจังหวัดภาคเหนือของไทยที่มีพรหมแดนติดกับสปป.ลาว คือ น่าน, พะเยา, แพร่ และเชียงราย  ซึ่งเป็นโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนพัฒนาแรงงานร่มกัน โดยชาวลาวในแขวงบ่อแก้วประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลัก และตอนนี้จีนได้เข้ามาลงทุนปลูกยางพาราส่งออก100% มีการสร้างโรงงานขนาดเล็ก 2 แห่ง อายุปลูกได้ 10 ปี สามารถกรีดยางได้ 30-40 ปี แต่ยังติดปัญหาแรงงานลาวขาดทักษะด้านนี้

              ขณะเดียวกัน แขวงบ่อแก้วมีแรงงานค่อนข้างน้อย และส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการพัฒนา เมื่อเมืองเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ การยกระดับแรงงานลาวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ในภาคการท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน เพราะแขวงบ่อแก้วมีศักยทางการท่องเที่ยว และการค้าควบคู่กัน จึงมีความคาดหวังว่าในกรอบความร่วมมือระหว่างไทย-ลาว น่าจะใช้เวลาในการพัฒนาแรงงานให้เหมาะสมกับการทำงานในแต่ละภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใน 4-5 ปีนับจากนี้

              ท่านดวงเพ็ด สิลิทำ หัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กล่าวว่า ทางแผนกต้องการให้แรงงานชาวลาวได้เรียนรู้ถึงการใช้เทคโนโลยีพื้นฐานให้เร็วที่สุด เพื่อต่อยอดไปยังการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆของแขวงบ่อแก้ว ในแง่ของการตลาด ขณะที่ทางด้านวิชาการ ก็อยากให้มีการบ่มเพาะความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆ ที่พร้อมจะพัฒนาให้เกิดอาชีพแก่ชาวลาวอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเห็ด, การเพาะพันธ์สัตว์, การผลิตปุ๋ยชีวภาพ การเลี้ยงปลา และการผลิตสินค้าจากไม้สัก ซึ่งล้วนแต่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน

              แผนกนี้ถูกตั้งขึ้นมาใหม่ และถือว่าเป็นงานที่ท้าทายท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจของสปป.ลาว กรณีของแขวงบ่อแก้วนับเป็นฐานการผลิตเหล้าต้ม และไวน์ และยังเป็นฐานการผลิตขนมจีน โดยใช้วัตถุดิบในพื้นที่ จึงคิดว่าน่าจะพัฒนาจากพื้นฐานที่ดำเนินงานได้ก่อน และเลือกที่จะนำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดรายได้ต่อชุมชน และล่าสุด มีนายทุนชาวไทยกำลังเข้ามาทำลองผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากขยะที่ทำจากพลาสติก และยางรถยนต์หากเกิดเป็นรูปธรรมก็จะช่วยสร้างอาชีพให้กับชาวลาวได้เช่นกัน

สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสนทัพหน้าพัฒนาแรงงานประชากรลุ่มน้ำโขง

              นายประสาร ทัศการ นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงานชำนาญการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของสถาบันฯคือ เข้าไปมีบทบาทในการวิจัยพัฒนาศักยภาพความแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติและการค้าตามแนวชายแดน รวมถึงฝึกอบรม และพัฒนาบุคคลากรฝีมือแรงงานในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในกรอบของโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุม แมน้ำโขง ที่มีประชากรกว่า 300 ล้านคน ในจำนวนนี้ 180 ล้านคนอยู่ในวัยเรียน และวัยทำงาน
การเปิดเวทีพัฒนาแรงงานไทย-ลาวอย่างเป็นทางการ ระหว่างสถาบันฯ, แรงงานจังหวัดเชียงราย, น่าน, แพร่ และพะเยา ร่วมกับแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาวครั้งนี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะในสิ่งที่ทางสปป.ลาวต้องการความช่วยเหลือ เพื่อประคับประคองให้เดินไปพร้อมๆกัน ในฐานะเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดกันมานาน อีกทั้งการขับเคลื่อนเหล่านี้จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ชายแดนระหว่าง 2 ประเทศมีความมั่นคง และแน่นเฟ้นในการยกระดับความเข้มแข็งทางเศรษฐกกิจ

              ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันฯมีความร่วมมือฝึกอบรมแรงงานให้กับเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่า จีน เวียดนาม และกัมพูชามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสปป.ลาว ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทั้งหมด 5 หลักสูตร โดยมีแรงงานชาวลาวจากทุกมุมเมืองเดินทางเข้ามาฝึกอบรมอาชีพที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงาน และกลับไปต่อยอดให้กับแรงงานลาวจนกลายเป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง และการร่วมมือกับแขวงบ่อแก้วครั้งนี้ก็จะทำให้รู้ถึงความต้องการของทางราชการลาวว่าต้องการยกระดับแรงงานในด้านใด เพื่อให้เกิดความเชื่อมต่อทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวต่อไป

-------------------------------

(หมายเหตุ : 'แขวงบ่อแก้ว'ยกระดับแรงงานลาวทั้งระบบรับอาเซียน  : สกาวรัตน์ ศิริมา-นิศานารถ กังวาลวงศ์รายงาน)

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

257

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน