'ปู'ชี้ลงทุน2ล้านล.เชื่อมอาเซียน

'ปู'ชี้ลงทุน2ล้านล.เชื่อมอาเซียน

'ยิ่งลักษณ์' หยิบประเด็น ช่องว่างจากความเชื่อมโยงหารือกับผู้นำเอเปค ระบุไทยลงทุน 2 ล้านล้าน เพื่อเชื่อมโยงไทย-อาเซียน และภูมิภาคอื่น

 

                              8 ต.ค. 56  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่โรงแรม Sofitel บาหลี อินโดนีเซีย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ร่วมถ่ายรูปหมู่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ก่อนเข้าร่วมการประชุมช่วงที่สอง หรือ Retreat II ในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ว่าด้วยความเชื่อมโยงของเอเปคท่ามกลางโครงสร้าสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ( APEC’s Vision of Connectivity in the Evolving Regional and International Architecture)”

                              โดยประเด็น ความเชื่อมโยง หรือ Connectivity ที่มีการหารือเพื่อรับรอง (1) APEC Framework on Connectivity ซึ่งกำหนดให้เอเปคบรรลุความเชื่อมโยงทั้งสามด้านคือ กายภาพ สถาบัน และ ประชาชนกับประชาชน (physical , institutional และ people to people) ประเทศส่วนใหญ่สนับสนุน โดยจีนรับจะสานต่อเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนในปีหน้า (2) Multi-Year Plan on Infrastructure Development and Investment ซึ่งกำหนดแผนงาน 4 ด้าน รวมถึง การตั้ง Pilot PPP Center ในอินโดนีเซีย เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานรัฐในการพัฒนาโครงการ PPP

                              โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เสนอความเห็นในประเด็นความเชื่อมโยง ซึ่งไทยให้ความสำคัญ และสนับสนุนให้เป็นวาระเร่งด่วนของเอเปค โดยความสำคัญของการเชื่อมโยงได้ถูกกำหนดไว้ในหลายกรอบการดำเนินการ เช่น ในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS ซึ่งประกอบด้วยระเบียงเศรษฐกิจใต้-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก และทางใต้ที่กำลังดำเนินการ และอาเซียนได้เสริมสร้างความเชื่อมโยงเพื่อเป็นยุทธศาตร์ในการขับเคลื่อนของการสร้างประชาคมอาเซียน รวมทั้ง การส่งเสริมความสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่น ขณะเดียวกัน ความร่วมมือ ACD ได้ส่งเสริมการเชื่อมโยงทางบกโดยการเสริมสร้างการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างเอเชียและยุโรป ผ่านเส้นทางสายไหม ทั้งนี้ เอเปคสามารถขยายการเชื่อมโยงภูมิภาคให้กว้างขึ้นโดยช่วยผลักดันข้อริเริ่มเหล่านี้และสนับสนุนการดำเนินการระหว่างกันในการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงนั้น

                              น.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นว่าจะต้องตระหนักถึงเรื่อง ช่องว่างของการเชื่อมโยงในภูมิภาคด้วย โดยช่องว่างแรกนั้นเกี่ยวเนื่องกับ สาระระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ เช่น เอเปคจะต้องมีกฎ ระเบียบ กระบวนการศุลากากร และธรรมเนียมต่างๆ ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ในส่วนของการบริการที่จะสนับสนุนการธุรกรรมต่างๆ ระหว่างสมาชิก จะต้องส่งเสริมให้มีมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศ จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ซึ่งไทยจะเป็นประธานในการประชุม Connect Asia-Pacific Summit ที่ประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนนี้ และหวังว่าจะได้เสริมสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาการเชื่อมโยงทาง ICT ในเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทั่วถึง

                              นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ช่องว่างที่สองคือช่องว่างจากการเชื่อมโยงภายในประเทศว่า การเชื่อมโยงนั้นต้องเริ่มจากในประเทศ ไทยจึงมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่เชื่อมโยงแต่เฉพาะไทยกับอาเซียน และต่อไปยังภูมิภาคอื่นเท่านั้น แต่ยังสร้างงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย นอกจากนี้ เอเปคจะต้องส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถของเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน และอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน การเชื่อมต่อระหว่างประชาชนข้ามพรมแดน

                              สำหรับช่องว่างที่สามของการเชื่อมโยงคือ การเชื่อมโยงทางอากาศและทางทะเล ซึ่งในปัจจุบันการค้ามหาศาลนั้นใช้เส้นทางทางทะเล การเชื่อมโยงทางทะเลจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เอเปคสามารถเพิ่มประเด็นการเชื่อมต่อท่าเรือที่สำคัญเข้ากับกรอบการดำเนินการที่มีอยู่ที่ส่วนใหญ่จะเน้นการเชื่อมต่อทางบก การเชื่อมโยงทางทะเลนั้นสำคัญต่อการเชื่อมโยงระหว่างแผ่นดินยูเรเซียนกับอเมริกา ซึ่งเป็นจักรกลสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก อีกทั้ง การเชื่อมโยงทางทะเลจะเชื่อมเอเชีย-แปซิฟิกกับภูมิภาคที่มีการเติบโตในมหาสมุทรอินเดียและอาฟริกา

                              นอกจากนี้ เอเปคจะต้องเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางอากาศ เช่น ในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก โดยในส่วนของประเทศไทยได้มีการปรับปรุงสนามบินนานาชาติเพื่อรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี รวมทั้งเสริมสร้างการเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้งนี้ การใช้ทรัพยากรต่างๆ นับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเชื่อมโยง ซึ่งจีนได้เสนอการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและไทยยินดีสนับสนุนความคิดดังกล่าวเหนือสิ่งอื่นใดนั้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและห่วงโซ่มูลค่าที่มั่นคงปลอดภัย เอเปคจะต้องร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาค เพื่อให้เอเปคกลายเป็นภูมิภาคไร้พรมแดนและมีความรุ่งเรืองต่อไป

                              ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือในช่วงที่สอง นายกรัฐมนตรีและผู้นำเอเปคได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน และจะมีการหารือระหว่างอาหารกลางวันในหัวข้อ การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยความเท่าเทียม-ความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน

 

 

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

276

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน