'ตุ๊กตาอีสาน'โอท็อปจังหวัดรุกอาเซียน
'ตุ๊กตาอีสาน'โอท็อปจังหวัดรุกอาเซียน
ทำมาหากิน : 'ตุ๊กตาอีสาน' โอท็อปจังหวัด ชูเสื้อผ้า-วัฒนธรรมรุกอาเซียน : โดย...ปัญญาพร สายทอง
หลังจากทางจังหวัดมีความต้องการให้มีสินค้าโอท็อปที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมไปถึงสินค้าตัวนี้จะต้องแสดงออกถึงความเป็นชนชาวอีสาน จึงทำให้ "พัชรา ขวัญเมือง" ผู้จัดการศูนย์นวัตกรรมไหม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีแนวความคิดที่จะส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์ "ตุ๊กตาอีสาน" จึงเอาโครงการสอนการทำตุ๊กตาให้เครือข่ายชุมชนกลุ่มเลี้ยงไหม ชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน โดยหวังเป็นการเพิ่มรายได้และเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้มาตรฐาน ก่อเกิดเอกลักษณ์แก่จังหวัดมหาสารคาม
"พัชรา" เล่าว่า เนื่องจากทางศูนย์นวัตกรรมไหม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีเครือข่ายชุมชนกลุ่มเลี้ยงไหมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรบ้านปลาบู่ อ.วาปีปทุม กลุ่มเพิ่มพูนทรัพย์ อ.นาเชือก กลุ่มเกษตรกรบ้านเหล่าดอกไม้ อ.ชื่นชม ชุมชนโนนศรีสวัสดิ์ อ.เมือง กลุ่มเกษตรกรบ้านใคร่นุ่น อ.กันทรวิชัย กลุ่มเกษตรกรบ้านเขวาน้อย อ.กันทรวิชัย รวมแล้วกว่า 90 คน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพผลิตผ้าไหม แปรรูปผ้าไหม และทำนา
"เราจึงมีความเห็นว่าการนำผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก ซึ่งเป็นผ้าลายเอกลักษณ์ของจ.มหาสารคามมาเป็นวัสดุสำคัญในการประดิษฐ์ตุ๊กตาเป็นการแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของคนอีสาน เพื่อให้เป็นของฝาก ของที่ระลึก สามารถสร้างคุณค่า สร้างรายได้ และนำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจให้จ.มหาสารคามด้วย" พัชราเธอแจงที่มา
พร้อมบอกอีกว่า ปัจจุบันเครือข่ายชุมชนกลุ่มเลี้ยงไหม ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดิมมีอาชีพทำนาอยู่แล้ว ดังนั้น การทำตุ๊กตาอีสานจึงเป็นงานประดิษฐ์ที่ช่วยเสริมรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยมีรายได้กลุ่มละประมาณ 3-4 พันบาท นับว่าเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจากตลาดยังไม่กว้างและการประชาสัมพันธ์ยังน้อยอยู่ และถ้าต่อไปเมื่อกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯลฯ ได้รับภูมิรู้จากการอบรมและนำไปพัฒนาองค์ความรู้ จนมีความชำนาญและต่อยอดสินค้าให้มีความเป็นเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น ก็จะเป็นการเปิดตลาดสินค้าให้เปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน “ตุ๊กตาอีสาน” จะกลายเป็นสินค้าที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ ความเชื่อ และคุณค่าของคนอีสานอย่างแท้จริง
โดยผ่าน “ตุ๊กตาอีสาน” ที่มีอยู่ 3 รูปแบบ คือ ตุ๊กตาผ้า ตุ๊กตาบาร์บี้ เน้นแต่งกายชุดพื้นบ้านอีสาน และตุ๊กตานางอัปสราแต่งกายนาฏศิลป์ไทย ซึ่งเครื่องแต่งกายของทั้งตุ๊กตาอีสานทั้ง 3 รูปแบบนั้น จะเป็นการเน้นเรื่องเล่า ประเภทนิทานพื้นบ้าน ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นที่รู้จักและยอมรับของคนอีสานและภูมิภาคอื่นๆ โดยคาดหวังว่าตุ๊กตาอีสานจะสร้างเอกลักษณ์ชุดของฝากประจำจังหวัด ที่แนบรายละเอียดแนะนำตัวละครในเรื่องนิทาน หรือตำนานนั้นๆ ด้วย อันนับว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างความน่าสนใจให้ผลิตภัณฑ์อีกทางหนึ่งด้วย
โดยการอบรมจากทางศูนย์นวัตกรรมไหมนี้มี น.ส.จิราภา บุติมาลย์ เป็นผู้ถ่ายทอดภูมิการเย็บตุ๊กตาด้วยมือและแต่งตัวตุ๊กตาในแบบพื้นบ้านอีสานจากเศษผ้าไหมให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจจะประกอบอาชีพเสริมจากการประดิษฐ์งานฝีมือเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ ซึ่งวิธีการผลิตนั้นขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล เฉลี่ยแล้วสามารถผลิตตุ๊กตาได้วันละประมาณ 3 ตัว/กลุ่ม เนื่องจากวิธีการดำเนินการผลิตนั้นมีหลายขั้นตอน ทำให้มีรายได้หมุนเวียนในกลุ่ม เศรษฐกิจในชุมชนมีความเข้มแข็ง ยั่งยืน และเป็นทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพ ส่งผลให้ประชาชนอยู่ดีกินดีอันทำให้เศรษฐกิจใน จ.มหาสารคามดีขึ้น ดังนั้นจึงมีการแบ่งงานจึงขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล
"พัชรา ขวัญเมือง" ผู้จัดการศูนย์นวัตกรรมไหม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มีจำหน่ายที่ศูนย์นวัตกรรมไหม ราคาตั้งแต่ 130-500 บาท สำหรับส่วนตุ๊กตาผ้า ตุ๊กตาบาร์บี้ ส่วนตุ๊กตานางอัปสรา ราคาตั้งแต่ 1,500 บาท ทั้งนี้ ราคาขึ้นอยู่กับรูปแบบการตกแต่ง ผู้สนใจต้องการสั่งซื้อตุ๊กตาผ้าอีสานหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 08-1532-5075 หรือศูนย์นวัตกรรมไหม เบอร์โทรศัพท์ 0-4375-4015 หรือ 0-4375-4416 ต่อ 3046 และตามร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอท็อปทั่วไปใน จ.มหาสารคาม และจังหวัดใกล้เคียง
--------------------------
(ทำมาหากิน : 'ตุ๊กตาอีสาน' โอท็อปจังหวัด ชูเสื้อผ้า-วัฒนธรรมรุกอาเซียน : โดย...ปัญญาพร สายทอง)