หน้าจอเดียวขายได้ทั่วโลก
หน้าจอเดียวขายได้ทั่วโลก
หน้าจอเดียวขายได้ทั่วโลก : คอลัมน์อินโนเทค : โดย...คนชอบ
ยอมรับว่า วันที่ตัดสินใจไปนั่งฟังงานสัมมนา ที่จัดโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. เมื่อเดือนที่ผ่านมา ก็เพื่อตอบสนองความสนใจส่วนตัว เรื่องบทบาทขององค์กรนี้ที่มักถูกมองในฐานะ "ฮาร์ดคอร์" ด้านเทคโนโลยี ในการที่จะเข้ามาผลักดันการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจการค้าจากการส่งออกให้แก่ประเทศไทย ในภาวะที่ประมาณการตัวเลขการเติบโต ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องรายไตรมาส ทั้งโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสถาบันด้านการเงินระดับโลก
แต่พอได้ฟังไอเดียของทั้งผู้บริหาร สพธอ. และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เห็นถึงมาตรการเชิงรุกเพื่อผลักดันมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าผ่านระบบ เนชั่นแนล ซิงเกิ้ล วินโดว์ (National Single Window หรือ NSW) ยกระดับคุณภาพการให้บริการทั้งของภาครัฐ พร้อมทั้งเสริมศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการแล้วก็ต้อง "ทึ่ง"
เพราะเคยมีโอกาสสัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวคิดระบบ NSW ซึ่งเป็นระบบกลางสำหรับรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก และระบบโลจิสติกส์ของประเทศ กับผู้บริหารระดับสูง ทั้งจากกระทรวงพาณิชย์, กรมศุลกากร เป็นต้น มาหลายครั้ง เมื่อมีการนำใช้งานเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ไม่เห็นความเชื่อมโยงที่เป็นรูปธรรมว่า ใช้งานง่าย เป็นที่นิยม
จนในงานนี้นั่นแหละที่ทำให้ถึง "บางอ้อ" ว่า ความติดขัดนี้ ไม่ได้มาจากระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ซึ่งประเทศเราก็ไม่ได้ติดอันดับล้าหลังแต่อย่างใด หากหนึ่งในปัญหาสำคัญคือ ข้อมูลสินค้านำเข้า-ส่งออก ที่หน่วยงานภาครัฐที่อยู่ในห่วงโซ่การอนุมัติต่างๆ ต่างคนต่างตั้งชื่อ หรือเลขรหัสหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์เดียวกัน ไว้แตกต่างกัน ทำให้พอเข้าสู่ระบบเชื่อมโยงข้อมูล ที่ควรจะทำงานได้เบ็ดเสร็จบนหน้าจอเดียว ระบบก็ค้นหาข้อมูลชื่อรหัสที่เข้าคู่กันไม่พบ ความรวดเร็วที่ควรจะเกิดขึ้นจากศักยภาพระบบเทคโนโลยีที่แต่ละหน่วยงานลงทุนไว้มากมาย จึงเกิดขึ้นไม่ได้
ผู้บริหารของ สพธอ.ยกตัวอย่างง่ายๆ แต่สะดุดใจทุกคนขึ้นมา ก็คือ มะพร้าว และกะทิ ว่า แทบทุกหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการส่งออก ไม่ได้จัดสินค้า 2 ประเภทนี้ไว้ในหมวดหมู่เดียวกัน ทั้งๆ ที่เป็นสินค้าส่งออกภาคการเกษตรลำดับต้นๆ ไปยังทั่วโลก
โดยมีข้อมูลสถิติจากกรมศุลกากร ระบุว่า ประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกกะทิสำเร็จรูป ไปยังลูกค้าเฉพาะ 10 อันดับแรกทั่วโลก เมื่อปี 2555 สูงถึงกว่า 5,900 ล้านบาท รั้งส่วนแบ่งตลาดโลกไม่ต่ำกว่า 80% และเมื่อแยกย่อยมายังลูกค้ารายใหญ่สุด คือ สหรัฐอเมริกา มียอดนำเข้ากะทิจากบ้านเราสูงกว่ากว่า 2,000 ล้านบาท
...แต่ไม่เกินปี 2558 การนำเข้า-ส่งออกของไทยจะทำได้รวดเร็วผ่านหน้าจอเดียว ที่เชื่อมข้อมูลที่ถูกทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันแล้วจากทั้ง 36 หน่วยงาน "แน่นอน" เพราะ สพธอ.ได้รับจัดสรรงบประมาณ 16 ล้านบาท เดินเครื่องสำนักงานบริหารโครงการ เพื่อเป็นจ้าภาพทำงานนี้ให้แก่ทุกหน่วยงานแล้ว... สาเหตุที่ต้องรีบ เพราะจะได้ไม่หลุดขบวนโอกาสทางการค้ารับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปีดังกล่าวนั่นเอง
................................
(หน้าจอเดียวขายได้ทั่วโลก : คอลัมน์อินโนเทค : โดย...คนชอบ)