กางแผนติดอาวุธอุตฯไทยสู้ศึกเออีซี

กางแผนติดอาวุธอุตฯไทยสู้ศึกเออีซี

เปิดหูเปิดตาอาเซียน : กางแผนติดอาวุธอุตฯไทย ชู 5 โครงการพร้อมสู้ศึกเออีซี

 

                                การพัฒนาผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมไทยยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีแผนมุ่งไปที่ 5 โครงการ ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของไทย ได้แก่ ศูนย์กลางด้านห่วงโซ่อุปทานของอาเซียน ศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียน โครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ โครงการเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมเพื่อการเติบโตของเอสเอ็มอี และการเพิ่มมูลค่าสินค้าโอท็อปด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ผ่านงบประมาณดำเนินการกว่า 686 ล้านบาท

 

 

                                นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การดำเนินงานปี 2556 ที่ผ่านมา ข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี เข้ามามีบทบาทต่อการปรับตัวทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมให้พร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงเพิ่มความสำคัญมากขึ้น โดย กสอ. ได้มีการจัดวางแผนการดำเนินงานภายใต้โครงการ “DIP Drives the ASEAN Synergy” ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีความพร้อมต่อการลงแข่งขันในตลาดเออีซี

                                ในปี 2557 นโยบายการบริหารงานหลักภายใต้โครงการดังกล่าวนี้ คือ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยให้ก้าวขึ้นสู่ซัพพลายเชนของอาเซียน และนโยบายที่ได้มีการวางไว้ยังครอบคลุมชัดเจนไปถึงแต่ละอุตสาหกรรมย่อย อาทิ การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียน การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ การเพิ่มมูลค่าสินค้าโอท็อปด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา และการสร้างผลิตภาพและนวัตกรรมเพื่อการเติบโตของเอสเอ็มอี เป็นต้น

                                "ประเทศไทยมีกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมในอาเซียน นั่นคือโอกาสและช่องทางต่างๆ เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนหลายประการ เช่น การเป็นศูนย์กลางทางด้านทำเลที่ตั้ง การคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ และแรงงานมีฝีมือมากกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เอื้อต่อการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของอาเซียนได้ไม่ยาก" นายโสภณกล่าว

                                ทั้งนี้ การดำเนินงาน 5 โครงการข้างต้น มีเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งสิ้น 16,700 คน และพัฒนาสถานประกอบการ 3,500 กิจการ แต่การดำเนินงานตามนโยบายต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ หน่วยงานทางด้านวิชาการ ซึ่งจะให้ข้อมูลในเชิงทฤษฎี เพื่อนำมาบูรณาการให้เข้าถึงภาคปฏิบัติมากขึ้น

 

 

                                ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาองค์การการค้าโลก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในปี 2557 ต้องเริ่มต้นจากการสร้างความเชื่อมโยงของผู้ประกอบการในแต่ละประเทศให้เกิดขึ้น เนื่องจากข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนถือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ประกอบการทั่วทั้งอาเซียน และด้วยจำนวนประชากรเกินกว่า 600 ล้านคน ทำให้อาเซียนเป็นตลาดที่สำคัญที่มีความพร้อมทางด้านการผลิตและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก

                                สิ่งสำคัญคือการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยปัจจุบันผู้ประกอบการไทยเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ คือการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานให้สูงขึ้น ส่วนการประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงานภายในประเทศนั้น การขยายโรงงานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่มีความพร้อมทางด้านแรงงานทั้งในแง่ของปริมาณและค่าจ้างแรงงานเป็นทางออกสำหรับผู้ประกอบการได้เช่นกัน

                                นอกจากนี้ การที่ผู้ประกอบการขาดข้อมูลทางด้านช่องทางการจำหน่ายหรือขาดกลยุทธ์ด้านการตลาด ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยชะงักได้ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มโอกาสในการลงทุนและช่องทางการจำหน่าย ให้แก่ผู้ประกอบการในตลาดอาเซียน ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้กลไกการผลักดันอุตสาหกรรมไทยเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งกุญแจสำคัญในการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการ คือ การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าหรือศูนย์จำหน่ายสินค้าในแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน

                                "ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้ประกอบการไทย คือ การขาดแคลนเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจ ดังนั้น หากภาครัฐได้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเอสเอ็มอีขึ้น โดยมีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิ์ดังกล่าวจะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสามารถทำตลาดได้ เพื่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมไทย และนำมาซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย" นายอัทธ์กล่าว

 

 

---------------------------

(เปิดหูเปิดตาอาเซียน : กางแผนติดอาวุธอุตฯไทย ชู 5 โครงการพร้อมสู้ศึกเออีซี)

 

 

 

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ komchadluek ดูทั้งหมด

246

views
Credit : komchadluek


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน