เด็กช่างปรับตัวรับอาเซียน
เด็กช่างปรับตัวรับอาเซียน
เด็กช่างปรับตัวรับอาเซียน ที่'วิทยาลัยสารพัดช่างชัยภูมิ' : โดย...หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ"การเรียนการสอนในสายอาชีพ หรืออาชีวศึกษาทุกวันนี้ หลายสถาบันเริ่มมีการปรับตัว ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีหน้าที่ผลิตกำลังออกคนสู่ตลาดแรงงานในประเทศแล้ว ปัจจุบันยังต้องพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ และมาตรฐานสู่สากลด้วย โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และการเข้าถึงเทคโนโลยีหรือไอซีที เราจัดเวลาให้เด็กได้เรียนภาษาอังกฤษสัปดาห์ละ 2 คาบ เน้นภาษาเพื่อการสื่อสารในด้านการทำงานตามสาขาวิชาชีพ เพราะวิทยาลัยของเราหวังให้เด็กจบออกไปทำงานได้จริง ไม่ตกงานเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัว" ร.ต.ต.ดร.คันศร คงยืน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยสารพัดช่างชัยภูมิ กล่าว
ปัจจุบัน วิทยาลัยสารพัดช่างแห่งนี้ มีนักเรียนจำนวน 500 คน และบุคลากรอีกจำนวน 60 คน โดยจะเน้นการเรียนทางด้านทักษะอาชีพเพื่อให้นักเรียนได้มีทักษะอาชีพเฉพาะทาง ผนวกกับการเรียนการสอนทางด้านภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย
"ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แรงงานทางด้านอาชีพมีความสำคัญเป็นอย่างมาก อย่างน้อยๆ เด็กเราต้องได้ภาษา โดยภาษาแรกที่ต้องได้คือ ภาษาอังกฤษ นอกจากนี้เรายังมีภาษาจีน เป็นภาษาทางเลือกสำหรับนักเรียนที่สนใจเรียน เนื่องจากเป็นภาษาที่สำคัญมากพอๆ กับภาษาอังกฤษเลยก็ว่าได้" รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ เผยถึงความสำคัญของภาษา
นอกจากทักษะด้านภาษาแล้ว วิทยาลัยแห่งนี้ยังได้ใช้สื่อไอซีทีเข้ามาช่วยสอนด้วย บอกเล่าได้จาก ครูวศิน แฝงเวียง ครูประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ การเรียนภาษาผ่านสื่อไอซีที ช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ เนื่องจากทางวิทยาลัยไม่มีครูชาวต่างชาติมาสอนนักเรียนตลอดทุกภาคเรียน ดังนั้น การมีสื่อและโปรแกรมช่วยสอน ถือว่าช่วยครูและนักเรียนได้มากทีเดียว
เห็นได้จากโปรแกรมสอนภาษาในรูปแบบมัลติมีเดีย อิงลิช ดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งผู้เรียนจะได้ฝึกทักษะภาษาอังกฤษผ่านคอมพิวเตอร์ โดยประเมินผลการเรียนด้วยตนเองจากการเลือกใช้บทเรียน 4 ด้าน ได้แก่ ฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งตัวผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับโปรแกรมภาษาได้ เช่น ฝึกทักษะการพูด การใช้คำศัพท์ ทำแบบทดสอบพร้อมคำเฉลย ช่วยให้ครูและนักเรียนมีส่วนร่วมปฏิบัติการเรียนรู้ร่วมกัน
"ทั้งโรงเรียน เรามีคอมพิวเตอร์ทั้งหมด 60 เครื่อง โดยจะมีการบรรจุโปรแกรมสอนภาษาเอาไว้ 10 เครื่อง นอกจากนี้ยังมีในห้องสมุดที่นักเรียนทุกคนสามารถเข้าไปค้นคว้าเพิ่มเติม หรือใช้ประโยชน์ทางการศึกษาอื่นๆ ด้วย" ครูวศินเผย
ไม่เพียงแต่กิจกรรมเสริมทักษะตามหลักสูตรการเรียนการสอนในชั้นเรียนเท่านั้น ครูวศิน บอกด้วยว่า ทางวิทยาลัยยังเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมนอกชั้นเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมในวันคริสต์มาส ค่ายภาษาอังกฤษ รวมไปถึงโครงการด้านภาษาอังกฤษ เช่น โครงการจัดหาผู้เชี่ยวชาญชำนาญการด้านภาษาอังกฤษ เป็นต้น
"นักเรียนที่เรียนสายอาชีวะจะไม่มีทางตกงาน ถ้ารู้จักพัฒนาฝีมือให้มีคุณภาพ และไม่เลือกงาน ยิ่งถ้ามีการฝึกฝนตัวเองพร้อมๆ กับฝึกภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วยแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีงานทำ เพราะภาษาคือหน้าต่างของโอกาส" ครูวศินบอก
หันมาพูดคุยกับ กรรณิการ์ อุปมา หรือ น้องหญิง นักเรียนปวช.ปี 2 สาขาการบัญชี เธอเผยถึงการเรียนการสอนในสายอาชีพของวิทยาลัยที่จะฝึกให้นักเรียนทุกคนได้ทำงานจริง เพื่อให้มีทักษะพร้อมรับประชาชมอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในปี 2558
"วิทยาลัยสารพัดของเรา มีการสอดแทรกการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้นักเรียนได้นำไปใช้ในการทำงานได้จริง โดยคุณครูจะมีเทคนิคการสอนที่น่าสนใจ ไม่ทำให้เด็กนักเรียนเบื่อเมื่อเข้าเรียนในคาบภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่าง คุณครูจะมีกิจกรรมฝึกทักษะการเขียนจดหมายสมัครงาน สอนตามสถานการณ์ มีเกมสนุกๆ ให้เล่น อย่างไรก็ดี การเรียนสายอาชีพยุคนี้ นอกจากจะต้องมีทักษะอาชีพแล้ว หากพูดภาษาอังกฤษได้ด้วย รับรองไม่ตกงานแน่นอนค่ะ" หญิงเผย
ส่วน สุพารัตน์ แสงใสแก้ว หรือน้องจูน เพื่อนร่วมชั้น ฝากไปถึงน้องๆ ที่สนใจเรียนสายอาชีพว่า สายอาชีพยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอยู่ไม่น้อย อยากให้ทุกคนฝึกทักษะการทำงานเฉพาะด้านให้เก่ง เพื่อที่จะได้เป็นแรงงานที่มีฝีมือพร้อมรับการมาถึงของอาเซียน รวมไปถึงภาษาอังกฤษที่ควรจะฟัง พูดได้บ้าง
ปัจจุบัน วิทยาลัยสารพัดช่างชัยภูมิ ตั้งอยู่เลขที่ 380 ถนนโนนม่วง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อยู่ภายใต้การบริหารของ ชูชาติ พรามจร ผู้อำนวยการวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมา นักเรียนของวิทยาลัยแห่งนี้เคยสร้างชื่อให้แก่วิทยาลัยมาแล้วหลายรางวัลด้วยกัน คือ รองชนะเลิศคอร์สเวิร์สระดับจังหวัดในปี 2554 และรางวัลชนะเลิศการพูดภาษาอังกฤษสาธิตสิ่งประดิษฐ์ระดับจังหวัดในปี 2555 สนใจเยี่ยมชมโทร.0-4481-2083
.......................................
(เด็กช่างปรับตัวรับอาเซียน ที่'วิทยาลัยสารพัดช่างชัยภูมิ' : โดย...หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ)